“บีโอไอ” เผยยอดขอรับส่งเสริมลงทุนพลังงานหมุนเวียนในไทยคึกคักไตรมาส 1/65 ทะลุ 8,022 ล้านบาท พลังงานแสงอาทิตย์แชมป์ รองลงมาคือชีวมวล ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะชุมชน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีเอกชนขอรับการส่งเสริม 506 โครงการ เงินลงทุน 75,061 ล้านบาท และในไตรมาสแรกปี 2565 ขอรับส่งเสริม 101 โครงการ เงินลงทุน 8,022 ล้านบาท
โครงการส่วนใหญ่สัดส่วนกว่า 80% ถือหุ้นโดยนักลงทุนไทย รองลงมาเป็นโครงการร่วมทุนที่ไทยถือหุ้นข้างมาก ส่วนโครงการที่ต่างชาติถือหุ้นข้างมาก มีจำนวนไม่มาก เช่น มีโครงการจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ และส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รองลงมาคือชีวมวล ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะชุมชน
“โครงการผลิตไฟฟ้าจะมี 2 แบบคือ ผลิตเพื่อใช้เอง กับผลิตเพื่อจำหน่าย โดยกรณีผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือจำหน่ายให้กับบริษัทในเครือ ปัจจัยหลักจากการลดต้นทุน ทั้งในส่วนของต้นทุนค่าไฟฟ้า หรือการนำเอาเศษวัสดุหรือของเสียจากโรงงานมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพหรือเอาเศษไม้ แกลบมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดทั้งปริมาณของเสีย ค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสีย และลดต้นทุนค่าไฟได้ด้วย”
ทั้งนี้จากเทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทชั้นนำต่างตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทำให้โลกร้อน รวมถึงยังยึดแนวทางความยั่งยืน หรือ ESG (Environment Social Governance-สิ่งแวดล้อม สังคม และการจัดการภาครัฐ) เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ และการออกไปลงทุนในต่างประเทศก็จะเลือกประเทศที่มีแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอจะเน้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น กลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Industries) และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง