รัฐบาลเตือนประชาชนทั่วประเทศ เฝ้าระวังจากฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 17 – 21 ก.ย. 65 ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม รับมือสถานการณ์ฝนที่จะตกเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่่ 16 ก.ย.65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 17 – 21 ก.ย. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนท่ีตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางนำ้ไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณท่ีมีฝนฟ้าคะนอง
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด รวมทั้งให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา กิ่วลม และแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมไปถึงอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกด้าน ทั้งติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตลอดจนเร่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น
“รัฐบาลเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนที่จะตกมากขึ้น โดยได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และมีการปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือการจัดทำ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 เช่น คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าปกติ รวมจุดเฝ้าระวัง/เสี่ยงอุทกภัย 750 จุด ทั้งประเทศ ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 25 แห่ง ขนาดกลาง 412 แห่ง และเขื่อนระบายน้ำ 32 แห่ง บึงธรรมชาติ 2 แห่ง เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ 5,382 หน่วยทั่วประเทศ และตรวจความมั่นคง ปลอดภัย คัน/ทำนบดิน/พนังกันน้ำแล้วเสร็จ 649 แห่ง ความยาวรวม 6,440 กิโลเมตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง” นายอนุชากล่าว