“มท.1” ยืนยัน “อปท.” มีอำนาจจัดซื้อ “วัคซีนโควิด-19” เพื่อไปฉีดให้ปชช.ในแต่ละท้องถิ่นได้ แต่ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนที่รัฐบาลวางไว้แล้ว ว่าจะให้กลุ่มใดก่อน-หลัง พร้อมย้ำไม่เลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น “ระดับเทศบาล” เหตุ “กกต.” มั่นใจสามารถดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบได้
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนไวรัสโควิด-19 ของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ว่า อำนาจหน้าที่ของ อปท. ที่จะไปจัดซื้อวัคซีนให้กับประชาชนสามารถทำได้ เพื่อดูแลประชาชน แต่การดำเนินการจัดซื้อวัคซีน ต้องผ่านการรับรอง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้ต้องมีการบูรณาการกับรัฐบาล เพราะส่วนหนึ่งรัฐบาลได้มีการจัดซื้อให้กับประชาชน ฉะนั้นต้องทราบแผนของรัฐบาลก่อน ว่าจะให้กลุ่มเสี่ยงใดบ้าง ซึ่งจะมีการกระจายไปใน อปท.ทั้งหมด เช่น ให้หมอ และ อสม. ซึ่งหากมีความสอดคล้องทั้งหมด ก็อาจจะไม่ต้องรบกวนท้องถิ่น แต่ถ้ายังมาช้า หรือยังมาไม่ทั่วถึง จะต้องมาหารือกันว่า ท้องถิ่นจะแบ่งเบา ก็สามารถทำได้
“เมื่อมีอำนาจหน้าที่ทำได้ ในส่วนงบประมาณต่างๆ ที่จะต้องนำไปจัดซื้อนั้น ต้องนำไปพิจารณาในสภาฯของเขา ว่าจะใช้งบประมาณที่มีอย่างไร จะดูแลอย่างไร ทั้งนี้หากงบประมาณมีน้อย อาจจะต้องดูแลผู้อ่อนด้อยก่อน หากกลุ่มใดรัฐบาลดูแลได้ ท้องถิ่นก็ไม่ต้องไปดูแล ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ใช่ว่าใครจะทำก็สามารถทำได้” รมว.มหาดไทย กล่าว
เมื่อถามว่า ในช่วงของการเลือกตั้งท้องถิ่น “ระดับเทศบาล” มีบางพื้นที่นำการจัดซื้อวัคซีนไปเป็นนโยบายหาเสียง จะทำได้หรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การจะหาเสียงได้หรือไม่นั้น เป็นอำนาจการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้พิจารณา แต่หากเป็นการทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ได้มีผลต่อการเลือกตั้งก็สามารถทำได้ แต่อยากให้มองในแง่ดีว่า อปท. มีหน้าที่ดูแลประชาชนและบริหารสาธารณะ เมื่อทำตามอำนาจหน้าที่ ก็ย่อมถือว่ามีเจตนาดี ทั้งนี้ต้องดูที่เจตนาอีกที
เมื่อถามว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ จะมีการพิจารณาเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมี.ค. หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันก่อน ครม. มีการพิจารณาว่า การจะมีการเลือกตั้งจะมีผลเนื่องจากสถานการณ์โควิดหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนการเลือกตั้ง กกต. มีขั้นตอนหลักการต่างๆ พอสมควร ดังนั้นในกระบวนการเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีผลในการเกิดการแพร่ระบาดได้ ส่วนมาตรการการหาเสียง กกต. ก็สรุปว่าจะมีมาตรการกำหนดให้การหาเสียงไม่มีการแพร่ระบาด ดังนั้นที่ประชุม ครม. จึงสรุปว่าการเลือกตั้งไม่น่าจะได้รับผลกระทบ จึงสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ โดยจะให้เลือกตั้งในระดับเทศบาลก่อน ทั้งนี้หากจะมีเหตุการณ์ผันแปรจากโควิด กกต. มีอำนาจในการสั่งเลื่อนได้
พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติในวันที่ 15 ม.ค.นี้ว่า เป็นมาตรการนำแรงงานกลุ่มที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ เพื่อตรวจคัดกรองโรคและยับยั้งการแพร่ระบาด ส่วนปัญหาเรื่องการทะลักของกลุ่มแรงงานเข้ามาอีกระลอกเป็นอีกเรื่องที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตามแนวชายแดน ทั้งแรงงานหรือกลุ่มเล่นการพนัน ที่ต้องผ่านกระบวนการสาธารณสุขสืบสวนโรค