“ศุภชัย” เบรก “พท.” ใช้ ก.ม.ยาเสพติดปี 64 แทนประกาศสงคราม หวั่นซ้ำรอยยุคฆ่าตัดตอน ตอกย้ำเหตุการฯ์อุ้มหายยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนอยู่มิลืมเลือน
วันที่ 9 ต.ค. 65 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าภายหลังเหตุโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภูแม้ว่าผลการพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบว่าผู้ก่อเหตุได้มีการเสพสารเสพติดก็ตาม แต่กลับมีนักการเมืองระดับหัวหน้าพรรคท่านหนึ่ง ออกมาแสดงความเห็นประเด็นเรื่องมาตรการด้านการปราบปรามยาเสพติดจนถึงขนาดจะออกเป็นนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดเหมือนกับพรรคที่ท่านเคยสังกัดเคยประกาศและออกมา”ทำสงคราม”จนเป็นที่กล่าวขานกันทั้งในและต่างประเทศถึง”ผลกระทบ”ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนั้นซึ่งหากจะมีการสืบค้นกันก็จะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายดังกล่าว
นายศุภชัย กล่าวว่า ในสมัยประชุมของรัฐสภาที่ผ่านมาผมเห็นว่ารัฐสภาได้ผ่านกฎหมายอันสำคัญยิ่งออกมาคือประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลใช้บังคับในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งผมเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดประมาณ 29 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ ส่วนกฎหมายลำดับรองของกฎหมายเหล่านี้จะยังมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่ออกมา โดยในตัวประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ มีกรอบแนวคิดสำคัญที่สะท้อนอยู่ใน 184 มาตราของกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้ กรอบนโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน การปราบปราม และการแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดโครงสร้างกลไกในการบริหารจัดการปัญหายาเสพติดซึ่งมีความสอดคล้องกัน ที่แต่เดิมจะกระจัดกระจายตามกฎหมายแต่ละฉบับ ขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ,กรอบนโยบายตัวยาเสพติดที่เกี่ยวกับการนำไปใช้ทางการแพทย์และเศรษฐกิจอย่างมีความเหมาะสมและสมดุล ,กรอบการมองปัญหาผู้เสพในมิติของปัญหาสุขภาพ มิใช่เรื่องอาชญากรรมเพียงอย่างเดียว การให้โอกาส ให้ความช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์ ,กรอบนโยบายทางอาญาในการลงโทษผู้กระทำความผิดให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับการกระทำผิด มีการเป็น 3 กลุ่ม คือ นายทุน แรงงาน และเหยื่อ และกรอบการดำเนินการทำลายเครือข่ายยาเสพติดมากกว่าการดำเนินการกับกลุ่มแรงงาน แผนกคดีทรัพย์สินไม่ผูกติดกับแผนกคดีอาญา และให้ริบทรัพย์สินตามมูลค่า
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า โดยในประมวลกฎหมายนี้ หลักการสำคัญจะมี 5 กลุ่มคือ นโยบายและกลไกในการแก้ไขปัญหา มาตรการควบคุมตัวยาเสพติด มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน กองทุนฯ การบำบัดรักษา และความผิดและบทลงโทษ ในประมวลกฎหมายฉบับนี้จะแบ่งเป็น 3 ภาค โดยภาค 1 การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญ เช่น เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายและแผนในการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไข การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการในรูปคระกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นกลไกหลักด้านนโยบาย คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดรับผิดชอบด้านการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดรับผิดชอบด้านการบำบัดดูแลผู้เสพหรือผู้ติดยาเพสติด และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและยึดทรัพย์สิน นโยบายในการควบคุมตัวยาเสพติด ในส่วนของยาเสพติด กฎหมายนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษ (แบ่งเป็น 5 ประเภท) วัตถุออกฤทธิ์ (แบ่งเป็น 4 ประเภท) และสารระเหย และกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎหมายลำดับรองให้มีการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อทดลองหรือทดสอบเกี่ยวกับการปลูกพืชที่เป็นยาเสพติดเพื่อการศึกษาวิจัย ลดอันตรายจากการใช้ หรือเพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหา มีการกำหนดทิศทางใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ริบทรัพย์สิน และการทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติด ให้อำนาจในการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มีการขยายอำนาจการดำเนินการต่อทรัพย์สินตามแนวทางการริบทรัพย์สินตามมูลค่า (value-based confiscation) โดยการคำนวณรายได้หรือมูลค่าจากการค้ายาเสพติดของผู้ต้องหาและให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้จากการค้ายาเสพติดนั้น ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินอื่นทดแทนทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด มีกองทุนเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นต้น
นายศุภชัย กล่าวว่า ในภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด โดยมีสาระสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาผู้เสพหรือผู้ติดในมิติทางสาธารณสุขและสุขภาพ ให้โอกาสกลับตัว ผู้เสพหรือครอบครองในจำนวนเล็กน้อย (ตามกฎกระทรวงกำหนด) สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี มีการปรับระบบการบำบัดรักษาทั้งระบบ จากระบบสมัครใจ ระบบบังคับ และระบบต้องโทษมาเป็นระบบสมัครใจและระบบบำบัดตามคำสั่งศาล การมีศูนย์คัดกรองที่ทำหน้าที่คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพรวมถึงการส่งไปบำบัดและการจัดทำประวัติ การมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมที่ติดตามดูแล ให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการบำบัด ให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม สนับสนุนที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว โดยไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ
นายศุภชัย กล่าวว่า ในภาค 3 บทกำหนดโทษ โดยมีสาระสำคัญ เช่น การปรับนโยบายทางอาญาด้วยการกำหนดโทษให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ไม่มีโทษขั้นต่ำ เว้นแต่เป็นเรื่องการค้าโดยหัวหน้าหรือผู้สั่งการ การยกเลิกบทสันนิษฐานการมีไว้ในครอบครอง การเพิ่มบทสันนิษฐานการครอบครองเพื่อเสพ ปรับระบบการลงโทษเน้นที่การปราบปรามองค์กรอาชญากรรมที่ทำผิดร้ายแรง พิจารณาจากพฤติการณ์และผลกระทบที่ร้ายแรง และเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษให้เหมาะสม การลดทอนความผิดที่ไม่ร้ายแรง (เสพ/ครอบครองเพื่อเสพ) หากจะลงโทษจำคุก ให้ศาลคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้เลิกเสพโดยการบำบัด เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นวิธีการอื่นเพื่อความปลอดภัย หรือนำเงื่อนไขการคุมประพฤติมาใช้ ปรับปรุงกระบวนการบังคับโทษปรับให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา
นายศุภชัย กล่าวว่า โดยในแง่การจัดการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเหยื่อที่เป็นผู้ใช้สารเสพติดหรือผู้เสพ เด็กและเยาวชน ก็จะมีมาตรการบำบัดฟื้นฟู มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก ให้การดูแลช่วยเหลือ สร้างภูมิคุ้มกัน กลุ่มแรงงาน ก็จะมีมาตรการบำบัดรักษา มาตรการของการขยายผลไปยังเครือข่าย มีการลงโทษทางอาญาและลดโทษหากให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์ และกลุ่มของนายทุน ก็จะมีมาตรการโทษทางอาญาที่รุนแรงเด็ดขาด มาตรการสมคบหรือการสนับสนุน มาตรการริบทรัพย์สิน (รวยขึ้น/ทดแทน/ตามมูลค่า) โดยในกฎหมายนี้ มีการกำหนดบทลงโทษประการหนึ่งที่ประชาชนควรรับรู้ไว้ กล่าวคือ การที่บุคคลที่ยอมให้ใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐาน ไปเปิด จด หรือลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้า หรือยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรง มีบทลงโทษจำคุก 3 ปีหรือปรับ 60,000 บาท ดังนั้น จึงอยากขอเตือนประชาชนทุกท่านว่าต่อจากนี้ไม่ควรยอมให้ผู้อื่นนำชื่อหรือเอกสารไปใช้เพราะจะเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมายในบทบัญญัตินี้ ประโยชน์ของการมีประมวลกฎหมายยาเสพติด คือ ประชาชนเข้าใจและเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการบูรณาการในการจัดการปัญหายาเสพติด ผู้กระทำผิดได้รับโทษเหมาะสมและได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำ มีมาตรการในการปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดมากขึ้น (การริบทรัพย์แบบทดแทนและตามมูลค่า) ศาลมีดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือมาตรการอื่นได้เหมาะสมมากขึ้น มีระบบการฟื้นฟูและให้โอกาสแก่ผู้เสพหรือครอบครองเพื่อเสพสมัครใจเข้าบำบัดแทนการดำเนินคดี ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูจะได้รับการช่วยเหลือจากสถานฟื้นฟูสภาพทางสังคม
“ผมยืนยันว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระบบของประเทศ และผมมั่นใจว่าหากท่านหัวหน้าพรรคได้อ่านได้ศึกษากฎหมายฉบับนี้และทำความเข้าใจอย่างจริงจังแล้ว ท่านคงไม่จำเป็นต้องนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดเป็นแน่ และผมขอภาวนาและเรียกร้องท่านว่าอย่าออกนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดเลย เพราะเหตุการณ์การฆ่าตัดตอน การอุ้มหาย ใบอนุญาตฆ่า(license to kill) จากนโยบายอย่างโหดร้ายในขณะนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนอยู่มิลืมเลือน” นายศุภชัย กล่าว