DGA ให้ความมั่นใจในฐานะผู้ดูแลแอปพลิเคชันหมอชนะ และการประมวลผลข้อมูล จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และไม่มีเจตนาละเมิดสิทธิของประชาชน
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้กล่าวขอบคุณ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมควบคุมโรค และทีมงานหมอชนะ ที่ให้ความไว้วางใจในการเป็นผู้ดูแลแอปพลิเคชันหมอชนะ ในฐานะผู้ประมวลผลข้อมูล (Data Processor) ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ของการทำงานร่วมกันอย่างดีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคการศึกษา ที่สอดประสานความร่วมมือเพื่อต่อสู้ต่อสถานการณ์ COVID-19 ไปด้วยกัน
โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการผลักดันแอปพลิเคชันนี้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับคุณหมอเพื่อช่วยติดตาม สืบสวนโรค COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม สะดวกสบายและง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ประชาชนได้มีเครื่องมือในการเฝ้าระวังตนเองและได้รับการแจ้งเตือนว่าที่ผ่านมาได้เคยไปสัมผัส หรือไปร่วมกิจกรรมกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 อย่างใกล้ชิดหรือไม่ เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองได้อย่างทันท่วงที โดยคำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนเป็นสำคัญ
ดร. สุพจน์ กล่าวว่า DGA จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเท่าที่จำเป็นตามการประกาศแจ้งในนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทุกประการ และแน่นอนที่สุดการใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ จะเป็นในลักษณะเชิญชวน รณรงค์ให้ช่วยกันดาวน์โหลด เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเองในการเฝ้าระวังการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วนจึงกำหนดให้การพัฒนาเป็นลักษณะ Opensource Code ทั้งหมด
ทั้งนี้ DGA ขอเรียนย้ำว่า ในการทำงานของ DGA จะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ และไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ไม่มีการเก็บเบอร์โทรศัพท์มือถือของประชาชนแต่อย่างใดตั้งแต่ Version แรกที่ DGA ได้เข้ามาดูแล ตลอดจนยังมีการตั้งคณะกรรมการธรรมภิบาลข้อมูลที่มีองค์ประกอบจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวิชาชีพเพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนของความโปร่งใสในการทำงาน
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา แอปพลิเคชันหมอชนะ Version ก่อนหน้านี้เกิดจากความร่วมมือกันในการพัฒนาของกลุ่มอาสาภาคเอกชน ที่มีการวางแผน Feature มากมาย และนำไปทดลองใช้ในที่ต่าง ๆ โดยในช่วงเดือน ม.ค.2564 รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของแอปพลิเคชันหมอชนะจึงได้มีการประกาศเชิญชวนให้ร่วมกันดาวน์โหลดทั่วประเทศ และเพื่อให้การสื่อสารสร้างการรับรู้ต่อประชาชนให้เข้าใจและใช้งานได้โดยง่าย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงกำหนดให้แอปพลิเคชันหมอชนะมี Feature ในระยะแรกเท่าที่จำเป็นต่อวัตถุประ สงค์ในการควบคุมและสอบสวนโรคก่อน (Minimum Viable Product) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ การนำแอปพลิเคชันหมอชนะมาใช้นั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ขั้นตอนการพัฒนาแอปเท่านั้น แต่ยังต้องกำหนดขั้นตอนดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานและหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งต้องใช้เวลาในการประสานงานและต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบหากมีการกำหนดสีที่ผิดพลาด หรือแม้แต่ถ้อยคำในการแจ้งเตือนที่ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้ ด้วยความเร่งด่วนของการดำเนินงานในช่วงต้นเดือนม.ค.2564 ที่ผ่านมา ทั้งกรมควบคุมโรค ทีมงานหมอชนะ และทีมงาน DGA ทั้งหมดได้ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ ทำงานอย่างสุดความสามารถที่จะพัฒนาให้แอปพลิเคชันหมอชนะให้สามารถทำงานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เต็มขีดความสามารถที่มีอยู่ ท่ามกลางข้อจำกัด และรายละเอียดของการทำงานที่ต้องเผชิญและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ตลอดจนการประสานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ปัจจุบันหมอชนะได้มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 5 ล้านคน แน่นอนว่าที่ DGA ไม่มีทรัพยากรรองรับได้อย่างเพียงพอหากต้องขยายถึง 30 ล้านคนในอนาคต และด้วยความจำเป็นเร่งด่วนเช่นนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนิน งานในส่วนนี้ให้สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเกรงว่าไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างเป็นสำคัญ DGA หวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านจะร่วมมือ ร่วมใจกันดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อประโยชน์กับตัวท่านเองและคุณหมอในการช่วยติดตาม เฝ้าระวัง COVID-19 ไม่ให้แพร่ระบาด ในการนี้ DGA ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ และสนับสนุนการทำงานของทีมงานทั้งหมดอย่างดีเสมอมา เพราะยอดดาวน์โหลดและจำนวนผู้ใช้งานในแต่ละวันคือจำนวนความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อที่จะลดลงด้วยเช่นกัน