วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“อนุทิน”ตั้งเป้ากลุ่ม 608 รับวัคซีนโควิค เข็มกระตุ้น 3-4 ให้ได้ครบ 100% สิ้นปี65
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อนุทิน”ตั้งเป้ากลุ่ม 608 รับวัคซีนโควิค เข็มกระตุ้น 3-4 ให้ได้ครบ 100% สิ้นปี65

“อนุทิน” มอบนโยบายให้ อสม.และสสจ.เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน ให้อสม. เป็นสื่อกลางชวนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่ม 608 เข้ารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ให้ได้ครบ 100% ลดป่วยหนักและเสียชีวิต ตั้งเป้า 2 ล้านโดส ภายในสิ้นปี

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 ที่ห้องชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบนโยบายและแนวทางการเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสู่ประชาชนให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) “รวมพลัง อสม. ส่งต่อภูมิคุ้มกัน ป้องกัน 608 ให้ปลอดภัย”

นายอนุทิน กล่าวว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 จะคลี่คลายแล้ว แต่ยังเน้นย้ำภารกิจของทุกหน่วยงานในการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต่างๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เนื่องจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตของประชาชนได้อย่างมาก

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมา อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19  มาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดให้ อสม. เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขสู่ประชาชน โดยเร่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อยร้อยละ 70

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้ให้ อสม. และหน่วยงานสนับสนุนทุกภาคส่วน ร่วมมือร่วมใจส่งต่อภูมิคุ้มกัน ป้องกัน 608 ให้ปลอดภัย ด้วยพลัง 3C : Collaborating – Communication – Coordinating (ร่วมมือร่วมใจ – สื่อสารกว้างไกล – ประสานรอบด้าน) โดย อสม.เป็นแกนนำหลักในการค้นหากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่รับผิดชอบ ให้เข้ารับวัคซีน เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 ล้านโดส และขอให้อสม. ทุกคนได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 1 เข็ม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 แก่ประชาชน และขอให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันบูรณาการจัดบริการวัคซีนให้เข้าถึงทุกคนมากที่สุด โดยในช่วงต้นปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขจะจัดกิจกรรมมอบโล่และประกาศเกียรติคุณให้กับทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจกันเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสู่ประชาชนทุกคน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันมีแนวโน้มเกิดการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และบางประเทศในยุโรป พบสายพันธุ์ XBB เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่สถานการณ์การฉีดวัคซีนของประเทศไทยในขณะนี้ มีผู้ที่เข้ารับวัคซีนทั่วประเทศรวมทุกเข็ม ทุกกลุ่ม เป้าหมาย ประมาณ 15,000 คนต่อวัน หรือ 5 แสนคนต่อเดือน โดยกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตหากไม่เคยได้รับวัคซีน/ไม่รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ได้รับเข็มกระตุ้นเพียง 43.4%

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันที่ 19 ตุลาคม 2565 ได้มีมติให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมซ้อมแผนรองรับสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และขอเชิญชวนให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และลูกหลานในครอบครัวเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้านทั่วประเทศ

นพ.สุระ กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เชิญชวนให้ อสม.ทั่วประเทศ เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 เข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 ให้ได้ครบ 100% เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีของประชาชน นำกลยุทธ์ “อสม. เคาะประตูบ้าน เชิญชวน อสม. และกลุ่มเป้าหมายไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น” 5 ขั้นตอน

เพื่อเป็นแนวทางให้อสม.นำไปปฏิบัติเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายมารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ประกอบด้วย 1.สำรวจ ค้นหา: สำรวจ อสม. และกลุ่มเป้าหมาย 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3 และ 4 2.นำพา ส่งต่อ : รวบรวมและส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมาย ให้แก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ 3.วางแผน เตรียมพร้อม : ร่วมวางแผนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อกำหนดวันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนในพื้นที่ 4.บอกต่อ แนะนำ : แนะนำ/พากลุ่มเป้าหมายไปรับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/สถานบริการสาธารณสุข ตามวันที่กำหนด และ 5.รายงาน ติดตามผล : ควบคุม กำกับ/ติดตาม รายงานผลการปฏิบัติงานผ่าน MOPH-IC

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img