นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ASEAN-Australia ครั้งที่ 2 ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน พร้อมใช้ประโชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความยืดหยุ่นในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 65 ณ โรงแรมสกคา กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน และนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ร่วมกล่าวถ้อยแถลง เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-ออสเตรเลียในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางของการดำเนินความสัมพันธ์ให้มีพลวัต แน่นแฟ้น ครอบคลุม และยั่งยืน
โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน – ออสเตรเลียที่มีมายาวนานเกือบ 5 ทศวรรษ ให้มีพลวัต ครอบคลุม เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเกื้อกูลกับการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน ท่ามกลางความท้าทาย ทั้งสองฝ่ายต้องเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมืออาเซียน – ออสเตรเลีย และกลไกอื่น ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ เพื่อเพิ่มพูนความยืดหยุ่นให้แก่ภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทาย ทั้งนี้ ไทยยินดีที่จะร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือต่อ ASEAN Outlook on Indo-Pacific (AOIP) ซึ่งจะส่งผลต่อการเสริมสร้างเสถียรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค
ในช่วงปีที่ผ่านมา อาเซียนและออสเตรเลียมีพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สามารถสรุปผลการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไทยยินดีที่ออสเตรเลียสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการขับเคลื่อนให้ ACPHEED ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนอาเซียนจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ข้อริเริ่มออสเตรเลียสำหรับอนาคตของอาเซียนจะเป็นประโยชน์ในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยไทยประสงค์ให้ที่ประชุมพิจารณาความเป็นไปได้ที่อาเซียนและออสเตรเลียจะร่วมกันจัดกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในปี 2566 ใน 3 สาขาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
1) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนบนพื้นฐานของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
2) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเกษตรอัจฉริยะและเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน
และ 3) การรักษาสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาความร่วมมือในด้านการขจัดขยะทะเลและการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงการมีความร่วมมือกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ไทยพร้อมมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการดำเนินความร่วมมือที่สร้างสรรค์เพื่อนำพาภูมิภาคให้ผ่านพ้นความท้าทายและภัยคุกคามร่วมกันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง บทบาทออสเตรเลียและความร่วมมือในกลุ่ม Quad และ AUKUS จะสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพในภูมิภาคและโลก ไทยพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในการประชุมเอเปค และร่วมฉลองการครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียด้วย