วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“อานันท์”ชำแหละ“การแพทย์ไทย” กระจุกแต่ในเมืองหลวงไม่กระจาย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อานันท์”ชำแหละ“การแพทย์ไทย” กระจุกแต่ในเมืองหลวงไม่กระจาย

“อานันท์” ชำแหละการแพทย์กระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวงอย่างเดียวไม่กระจาย ชี้คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นสถาบันต่างๆ แต่ยังเคารพให้เกียรติสถาบันการแพทย์ของเมืองไทย ด้าน “หมอชูชัย” ย้ำความสำคัญการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ผลักดันให้ทุนการศึกษาระดับอำเภอ

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิพฤษภาคมประชาธรรม และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดงานงานแสดงมุทิตาจิต ปาฐกถาและเวทีเสวนา “ทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ” เนื่องในโอกาส ที่นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ได้รับรางวัล ผู้นำด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ 72 ถ.พระราม 3 กทม. โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจัดงาน มีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 กล่าวเปิดงาน

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้ปาฐกถามีเนื้อหาสำคัญว่า การเกิดวิกฤติโรคระบาดทำให้การปฏิรูปสุขภาพปฐมภูมิมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นพัฒนาการชัดเจน 4 ประเด็น ประเด็นแรก ระบบสาธารณสุขมูลฐานซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ผลิตออกมาด้วยความอดทนกว่า 4 ทศวรรษ อสม. ทั่วประเทศได้ทำรายงานและควบคุมสถานการณ์โรคระบาดได้ อสม. หนึ่งล้านสี่สิบคนของกระทรวงสาธารณสุขจึงเป็นที่รู้จักครั้งแรกของประเทศหลังจากที่มีมากว่า 4 ทศวรรษ คนที่วางรากฐานแนวคิดนี้คืออาจารย์หมออมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขกับอาจารย์หมอสุชาติ เจตนเสน เป็นผู้วางรากฐานระบบเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ เรื่องการรายงานโรคติดต่อ และเป็นคนริเริ่มนักระบาดวิทยาภาคสนามทั้งไทยและในประเทศเพื่อนบ้านกว่า 4 ทศวรรษ

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ประเด็นถัดมาได้เห็นระบบโครงสร้างระบบสุขภาพไทยของกระทรวงสาธารณสุข ต้องนึกถึงคุณูปการของหมอเสม พริ้งพวงแก้ว เมื่อครั้งท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้งานรักษาพยาบาลและงานป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูโรค อยู่ด้วยกัน เกิดความเป็นเอกภาพจากส่วนกลางไปถึงตำบลหมู่บ้าน เชื่อมต่อระบบดูแลตนเองของชุมชน ทำให้ระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ ประเด็นสุดท้าย สป.สช. ซึ่งสามารถที่จะจัดการงบประมาณที่ไม่ได้จัดให้สุขภาพปฐมภูมิโดยเฉพาะ ให้เกิดการเฝ้าระวังโรคที่บ้าน เราเคยได้ยินคำว่า community isolation ไปที่ชุมชน เป็นระบบงบประมาณที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิอยากให้เกิดโดยมีงบประมาณตรงไปที่ชุมชน เหล่านี้เป็นหัวใจและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้สถาบันวิชาการระดับโลกของมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกิน ยกให้ระบบควบคุมป้องกันโรคของไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก สิ่งที่พูดมาเหล่านี้เป็นการปฏิรูปในกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด

นพ.ชูชัย ยังชี้ให้เห็นความสำคัญและจำเป็นของการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ว่ามีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำใน 5 มิติ รายได้ โอกาส สิทธิ อำนาจ และศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ 10 อันดับแรกของโลก มีงานวิจัยที่อ้างอิงได้ว่าทำให้เกิดปัญหาสังคม คนล้นคุก การใช้ยาเสพติดจำนวนมาก มีแม่วัยใสเยอะ และความไว้วางใจในสังคมต่ำ มีอย่างเดียวคืออัตราการตายของทารกในประเทศเราไม่ได้ต่ำมาก

“เรามาถึงจุดที่ถึงพร้อมระดับหนึ่งและได้ผลักดันให้เกิดความสำคัญในรัฐธรรมนูญเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ เรื่องแพทยศาสตร์ครอบตัว และมีบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขไปผลักดันต่อ จนพ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิออกมาได้หลังรัฐธรรมนูญออกมา 2 ปี นี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการปฏิรูป”นพ.ชูชัย กล่าวและว่า มีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดความเสมอภาคด้านสุขภาพด้วยทุนนักเรียนระดับอำเภอที่ได้รับทุนจากองค์การปกครองท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล โดยควรพิจารณาให้โควต้าพิเศษสำหรับบุตรหลานของ อสม. เมื่อเรียนจบก็กลับไปทำงานให้กับท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนและสามารถทำได้ทันที ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น อีกข้อคือการผลักดันกองทุน 3 กองทุน กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนสวัสดิการแรงงาน และกองทุนหลักประกันสุขภาพ เกิดการปฏิรูปให้ได้สวัสดิการที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น โดยมี สป.สช.เป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้สวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างเท่าเทียม

จากนั้นได้มีเวทีเสวนา เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สป.สช. และนพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ดำเนินการเสวนา โดย น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้ช่วย ผอ.สำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า ระบบสุขภาพ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดการตาย มีสุขภาพที่ยืนยาว การแก้ไขปัญหามิติเดียวบางครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขได้ครอบคลุม เรื่องระบบ การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นวิกฤตระดับโลกที่ใช้เป็นตัววัดแต่ละประเทศว่ามีการรับมืออย่างไร ประเทศไทยถูกจัดระบบอยู่ในระดับรายได้ปานกลาง และหลายประเทศก็ชื่นชมว่าประเทศไทยรับมือได้ดี อย่างเช่น องค์กรอนามัยโลก

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราสามารถรับมือกับวิกฤตได้ดีก็มี 3 ประการ คือ นโยบายและผู้นำ สองคือระบบสุขภาพที่แบ่งระดับปฐมภูมิ ทุติภูมิ ตติยภูมิ และมี อสม. ที่มีความเชื่อมโยงกัน หน่วยงานของกระทรวงและพันธมิตรเครือข่ายสามารถผนึกกำลังได้ดี สาม คือประชาชน ความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจในระบบสุขภาพและบุคลากรสาธารณสุข”นพ.โอภาส กล่าว

ด้านนพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ กล่าวว่า กลไกหนึ่งที่สำคัญคือตัวกฎหมายในชั้น พ.ร.บ. ซึ่งคลอดมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องระบบสุขภาพ บริการ การส่งต่อข้อมูล ออกแบบให้ครอบคลุมหน่วยบริการในทุกสังกัด และกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเคลื่อนไปด้วยกันคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคอนเซปประบบสุขภาพ โดยเฉพาะปฐมภูมิ มันกว้างกว่าเรื่องหมอและยา แต่ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ มิติต่าง ๆ ที่ครบถ้วน ออกแบบให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทมากกว่าภาครัฐ เพราะถ้าภาคประชาสังคมเข้มแข็งมีวิกฤตเราสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว แต่หัวใจไม่ได้อยู่ตัวกฎหมายที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียว แต่อยู่ที่การ implement ด้วย

นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สป.สช. ผู้สนับสนุนด้านงบประมาณได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่พยายามออกแบบเป็นประชาชนจะได้รับสิ่งที่ท่านคาดหวังไว้ได้หรือไม่ การออกแบบนโยบายแล้วประชาชนจะนำไปใช้แล้วหายหรือมีสุขภาพดีจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชน เมื่อการบริการปฐมภูมิไม่ครอบคลุม ก็นำไปสู่การพัฒนา Self Care (การดูแลตนเอง) เพื่อให้เกิดการป้องกัน และสามารถตรวจวัดบางโรคได้ด้วยตนเอง เป็นบริการที่ประชาชนจะต้องดูแลด้วยตัวเอง ประชาสังคมต้องคุยกับในมิติของชาวบ้าน ไม่ใช่คุยแบบเราจะเอา แต่ต้องคุยว่าประชาชนต้องการอะไรเพื่อเข้าถึงบริการแล้วเราปรับระบบบริการของเรา เพื่อจะได้เสริมงบประมาณให้หน่วยบริการให้ได้ตรงตามความต้องการ

จากนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานจัดงาน กล่าวแสดงมุทิตาจิตว่า ชีวิตหมอเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุดนอกจากทำให้เกิดความสุขให้ตัวเองแล้วยังทำให้เกิดมีความสุขของคนไข้และคนอื่นๆด้วย ในเมืองไทยปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดหัวก้าวหน้า ในการปรับปรุงโครงสร้าง นโยบาย เทคโนโลยี ไม่ติดกับจารีตประเพณีของสังคมในอดีต คนรุ่นใหม่เขาอยู่ในฐานะลำบากมาก เขามีความอึดอัดมาก เขารู้สึกอยู่ในประเทศ ในสังคม โดยไม่มีควางหวัง มองไม่เห็นอนาคตของส่วนรวม พวกหมอนี่แหล่ะที่จะมีบทบาทสำคัญมาก ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นในสถาบันต่างๆของสังคมไทยไม่มีความเคารพนับถือ นักการเมือง รัฐธรรมนูญ ศาล ตำรวจ ทหาร ระบบราชการ และหลายอย่าง คนเราถ้าหมดความเชื่อถือ เชื่อมั่น ผิดหวังกับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตก็เฉาง่าย แต่ยังมีสถาบันที่คนยังเชื่อถือ เคารพ ให้เกียรติ นั่นคือสถาบันการแพทย์ของเมืองไทย ไม่วาจะเป็นหมอ โรงพยาบาล

นายอานันท์ กล่าวว่า ตนก็ทำเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่ โรงเรียนตาบอด ที่พ่อตนตั้งขึ้น เมื่อคลุกคลีกับเรื่องพวกนี้แล้วยิ่งเห็นว่าหมอไทยยิ่งสรรเสริญจริงๆ การมีสุขภาพที่ดีที่รัฐเข้าไปดูแล ถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่การมาเรียกร้องว่างบประมาณไม่พอ แต่ต้องหาให้ได้ เมื่อ 20 กว่าปีตนได้รู้จักหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บอกว่ามีแผนงานจะเสนอ อยากให้ตนในฐานนะอดีตนายกฯ กล่าวในงาน พูดเปิดตัวเรื่อง 30 บาท แต่หลายคนไปให้เครดิตนักการเมือง แต่เขาก็เก่งหยิบไปเป็นนโยบายทางการเมืองได้ แต่ความจริงแล้ว มันเกิดได้ เพราะหมอสงวน, หมอมงคล ณ สงขลา, อาจารย์อัมมาร สยามวาลา 3 คนเป็นหลักใหญ่ ชีวิตตนจึงพัวพันกับหมอ แล้วมาเจอหมอชูชัย ตนติดใจที่หมอประเวศ วะสี คุยเรื่องหมอชนบท มีคำว่า รวยกระจุก จนกระจาย

“ในใจผมมันยิ่งกว่านั้นอีก การแพทย์กระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวงอย่างเดียว ไม่กระจาย ผมก็บอกว่าอยากจะช่วย ราษฎรชนบทก็มีความสำคัญเท่าราษฎรในเมือง โรงพยาบาลดีๆ ก็สร้างไป แต่อย่าลืมชนบท กรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย จริงๆ แล้ว ประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพ อยากให้ส่งเสริมวิธีคิดแบบนี้ไว้ ส.ส. รัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นนายกฯ แต่เป็นผู้รับใช้ประชาขน วิธีคิดแบบนี้คนรุ่นใหม่จะเข้าใจง่าย”นายอานันท์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img