‘นายกฯ’ยินดีวัคซีนโควิดฝีมือคนไทย ‘เอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค’ของ อภ. ใกล้สำเร็จ คาดขึ้นทะเบียนตามแผนในปี 66 โดย อภ.จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความยินดีหลังจากได้รับทราบรายงานว่าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด19 เอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เข้าใกล้ผลสำเร็จ โดยขณะนี้เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ หรือการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แล้ว ซึ่งหากการทดลองในส่วนนี้ประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การดำเนินการตามแผนงานคือ ขึ้นทะเบียนภายในปี 2566 ดำเนินการผลิตและกระจายวัคซีนสู่ประชาชน โดย อภ.จะมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณ อภ. กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบทางคลินิกทั้งใน 2 ระยะที่ผ่านมา และระยะที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการที่โรงพยาบาลนครพนม จำนวน 4,000 คน ที่อาสาสมัครเป็น พี่น้อง อสม. และประชาชนชาวนครพนม
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันผลักการพัฒนาวัคซีนฝีมือคนไทย และขอให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างว่าทุกความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคนไทย การมีเงินทุน ความรู้ เทคโนโลยี แต่ขาดอาสาสมัครที่เสียสละการทดสอบก็ไม่ทางสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต่างมีบทบาทสำคัญ ขณะรัฐบาลเองก็จะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณบุคลากรเพื่อพัฒนาทุกเทคโนโลยีและขีดความสามารถของคนไทย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ จ.นครพนมเพื่อติดตามการเริ่มการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนเอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค ที่โรงพยาบาลนครพนม ได้มีรายงานว่าหากการทดสอบครั้งนี้สำเร็จไปได้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในอนาคต
สำหรับโครงการพัฒนาวัคซีนเอชเอ็กซ์พี-จีพีโอแวค เป็นความร่วมมือของ อภ. กับองค์กรต่างๆ ได้แก่ PATH, Icahn School of Medicine at Mount Sinai (Icahn Mount Sinai) นิวยอร์ค, University of Texas at Austin (UT Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงงานผู้ผลิตวัคซีนใน 3 ประเทศ คือ บราซิล เวียดนาม และไทย โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านทางหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ.