“หมอยง”เตือน 5 ข้อที่ต้องคำนึงถึงในการรับนักท่องเที่ยว แนะคนไทยเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเป็น “เกราะกำบัง” ป้องกันโควิด
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ โควิด 19 ข้อคำนึงการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยระบุว่า ขณะนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้วในการระบาดของ covid 19 ความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อไปแล้ว ร่วมกับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับประเทศไทย มีการติดเชื้อไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ก็ยังมีการฉีดวัคซีน 3 เข็ม เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น
สิ่งที่จะต้องคำนึงในการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย
1.ประชากรทั่วโลก มีการติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก และไม่เกี่ยวกับชนิดของวัคซีน เช่นในญี่ปุ่น เกาหลี ขณะนี้ติดเชื้อวันละเป็นแสนเสียชีวิตหลายร้อยคนต่อวัน ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ทั่วโลกขณะนี้ มีอาการน้อย หรือจำนวนมากไม่มีอาการ และเป็นการยากที่จะตรวจกรองผู้เดินทางได้หมด การฉีดวัคซีนทั่วโลกครบ 3 เข็ม ไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ของประชากร 7,000 ล้านคน
2.สายพันธุ์ในแต่ละประเทศมีความจำเป็นมาก ที่จะต้องรู้ ประเทศไทยได้มีการระบาดสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ BA.1 จนถึง BA.4/5 และขณะนี้ เป็น BA.2.75 ซึ่งการระบาดตามหลังประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป สายพันธุ์ได้เดินหน้าก่อนเรา ซึ่งขณะนี้เป็น BQ.1 และ BQ.1.1 ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์จะดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราเองก็ยังไม่อยากที่จะให้สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ1.1 เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย แต่ในที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น เพราะเราไม่สามารถที่จะตรวจกรองได้หมด ในอดีตสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยจะตามหลังทางตะวันตกมาโดยตลอด
3.การเข้มงวดในแต่ละประเทศที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ โดยเฉพาะเป็นสายพันธุ์ที่ ประเทศไทยไม่มี และมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดง่าย ถ้าสามารถป้องกันได้ ก็จะลดความเสี่ยงของเราลงได้
4.สิ่งที่สำคัญจึงต้องรู้เขารู้เรา ว่าประเทศต้นทางกำลังระบาดด้วยสายพันธุ์อะไรอยู่ ถ้าประเทศต้นทางเป็น BA.4, BA.5 หรือ BA.2.75 ซึ่งประเทศไทยได้ระบาดผ่านไปแล้ว และประชากรส่วนใหญ่ก็มีภูมิต่อสายพันธุ์นี้แล้ว ความวิตกกังวลก็จะน้อยลง
5.การควบคุมการเดินทางหรือมาตรการต่างๆที่จะเกิดขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในแง่สายพันธุ์ ความรุนแรงของแต่ละสายพันธุ์ การดื้อต่อระบบภูมิต้านทาน ที่จะมาแพร่กระจายได้ง่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดร่วมในการตัดสินใจ
หมายเหตุ ข้อมูลจาก Asahi Shimbun ญี่ปุ่นวันที่ 26 ธันวาคม กล่าวไว้ว่า สายพันธุ์ที่พบในจีน ที่ปักกิ่งเป็น BF.7 ซึ่งเป็นลูกของ BA.5 และสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วประเทศจีนขณะนี้เป็น BA.5.2 ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นคือ BF.7 และ BA.5.2 เช่นเดียวกัน
สิ่งที่สำคัญในการป้องกันการระบาดและลดความรุนแรง สำหรับประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปกป้องคนไทย ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน และแนวทางการปฏิบัติสุขอนามัย เป็นเกราะกำบัง