วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเตือน!คนเคยติดโควิดต้องประเมินความเสี่ยง“ภาวะผิดปกติ'”หลังติดเชื้อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เตือน!คนเคยติดโควิดต้องประเมินความเสี่ยง“ภาวะผิดปกติ’”หลังติดเชื้อ

“หมอธีระ” แนะคนที่เคยติดเชื้อโควิด ควรไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะผิดปกติ หรือโรคเรื้อรังอาจเกิดหลังจากติดโควิด

เมื่อวันที่ 1 ม.ค.65 “รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” โดยระบุว่า ขออำนวยพรปีใหม่แก่ทุกท่านด้วย 4 ทัศนคติในการใช้ชีวิต เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทุกท่านและคนในครอบครัวครับ

…ทัศนคติในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน…

“ใส่ใจสุขภาพของตนเองและสมาชิกในครอบครัว”

ไม่ประมาทระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน ท่องเที่ยว จ่ายตลาด เดินทางขนส่งสาธารณะ คอยสังเกตรอบข้าง รักษาระยะห่างคนที่มีอาการไม่สบาย/ไอ/จาม/พูดคุยตะโกนมากเสียงดัง เลือกกินดื่มในร้านอาหารที่คนไม่แออัด ระบายอากาศดี เลี่ยงสถานที่อโคจร ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบ

ที่สำคัญมากคือการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ

สำหรับคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรคอยดูแลสุขภาพของตนเอง และไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อประเมินความเสี่ยงของภาวะผิดปกติ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโรคโควิด-19

“ตระหนักเสมอว่า โควิด-19 ยังเป็นโรคระบาดและเป็นภัยคุกคามทั่วโลก ไม่กระจอก ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ตัวเลขติด-ป่วย-ตาย-Long COVID เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจน”

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด โควิดเป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยความตั้งใจและพฤติกรรมป้องกันตัวของเรา เวลาเกิดวิกฤติต่อชีวิตตัวเราหรือสมาชิกในครอบครัว คนที่จะเผชิญหน้ากับวิกฤตินั้นย่อมไม่ใช่ใครอื่น บทเรียนอดีตรอบสองปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ระลอกสองเป็นต้นมานั้นเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ

ดังนั้นจึงไม่ควรเชื่อคำลวงด้วยกิเลส แต่ควรใช้สติ และปัญญา วางแผนการใช้ชีวิตให้ดี

“ใครไม่ป้องกันตัว แต่ฉันป้องกันตัวเสมอ ความเสี่ยงย่อมน้อยกว่า นี่คือสัจธรรมที่ไม่สามารถปฏิเสธได้”

ไม่ว่าจะคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวในประเทศ หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไม่ป้องกันตัว หากเราต้องพบปะติดต่อ บริการ หรือทำมาค้าขายด้วย แต่เรายังสามารถจัดการความเสี่ยงของเราได้เสมอ ทั้งการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องรัดกุม จัดที่ทางที่ระบายอากาศ ติดตั้งพัดลมพัดออกจากตัวเรา เครื่องฟอกอากาศ กำหนดระยะเวลาในการพบปะติดต่อ บริการ หรือทำมาค้าขายกับแต่ละคนนั้นให้สั้นลง หรือแม้แต่การกำหนดระเบียบหรือเงื่อนไขให้คนที่มานั้นปฏิบัติตาม หากทำได้

“ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นแสงส่องทางในการเลือกประพฤติปฏิบัติตัว”

…หากสัมผัสความเสี่ยงมา…

ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม หลังจากสัมผัสความเสี่ยงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

ตรวจ ATK หากได้ผลลบครั้งแรก ให้ตรวจซ้ำวันเว้นวัน รวม 3 ครั้ง (วันที่ 1, 3, และ 5)

แต่หากตรวจพบว่าเป็นผลบวก มักแปลได้ว่าติดเชื้อ (โอกาสเกิดผลบวกปลอมน้อย) และควรเข้าสู่กระบวนการตรวจรักษาตามมาตรฐาน แยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ จึงจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันโดยต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ ไม่แชร์ของกินของใช้ ไม่คลุกคลีใกล้ชิด และไม่กินดื่มกับผู้อื่น ควรเลี่ยงการใช้ยา สมุนไพร อาหารเสริม และอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานการรักษาโควิดระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าพยาธิ ยาจิตเวช พืชผักสมุนไพรต่างๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ หรือได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในการรักษาโรคโควิด-19

…หากมีอาการไม่สบาย สงสัยว่าจะเป็นโควิด-19…

ควรตรวจด้วย ATK หากได้ผลบวก ก็แปลว่าติดเชื้อ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อให้สามารถได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง และได้รับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามที่กำหนด และตามมาตรฐานสากล

แต่หากมีอาการป่วย แต่ตรวจ ATK ครั้งแรกได้ผลลบ ให้ตรวจซ้ำทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน เพราะการตรวจ ATK อาจให้ผลลบปลอมได้พอสมควร (ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ)

ระหว่างที่มีอาการผิดปกติ แต่ตรวจแล้วไม่ติดเชื้อโควิดนั้น นอกจากกินยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ควรปฏิบัติป้องกันตัวเคร่งครัด แยกจากคนอื่น ใส่หน้ากากเสมอ แม้ยามที่อยู่ในบ้านที่อยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วย

…ใช้ชีวิต ประคับประคอง ช่วยเหลือดูแล และปลอดภัยไปด้วยกัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img