กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XAY.2 ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างเดลตา AY.45 กับโอมิครอน BA.4/5 ในไทยจำนวน 1 ราย ส่วน XBB.1.5 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบในไทย
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.66 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ในประเทศไทย ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายตรวจพบ สายพันธุ์ XAY.2 จำนวน 1 ราย ในไทย ซึ่งกรมได้ส่งข้อมูลเผยแพร่ไปยังฐานข้อมูล GISAID ทั้งนี้สายพันธุ์ XAY.2 เป็นลูกผสมระหว่าง เดลตาสายพันธุ์ย่อย AY.45 กับ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5* ขณะนี้ทั่วโลกพบ 344 ราย อย่างไรก็ตามคนที่อยู่ใกล้ชิดยังไม่พบการติดเชื้อ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่จีนจะเปิดประเทศว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่ระบาดในจีน พบว่า 97% เป็นสายพันธุ์ BA.5.2 และสายพันธุ์ BF.7 ซึ่งไม่ได้เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้มีการแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์ในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่น่ากังวล
สำหรับสายพันธุ์ XBB.1.5 ที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วในสหรัฐอเมริกา จากการเฝ้าระวังยังไม่พบในประเทศไทย โดยสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศไทยขณะนี้เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BN.1.3 ซึ่งเป็นลูกหลานของ BA.2.75 ซึ่งข้อมูลความสามารถในการหลบภูมิและแพร่เร็ว ใกล้เคียงกับ XBB.1.5
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่าย ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันโรค การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น สามารถลดโอกาสติดเชื้อ และลดอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว