“หมอหนู” ฉะสื่อบางราย พูดทำคนสับสนเรื่องวัคซีนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน พร้อมแจง “ท้องถิ่น-เอกชน” ยังซื้อวัคซีนเองไม่ได้ ต้องขึ้นทะเบียนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และต้องขายให้รัฐบาลเท่านั้น ขณะที่ “อย.” เผย “ซิโนแวค” ส่งเอกสารยื่นขึ้นทะเบียนแล้ว คาดทันใช้ก.พ.นี้แน่
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แจ้งภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะแรกต้องทำโดยรัฐบาลเท่านั้นว่า เป็นเรื่องความชัดเจน เพราะจะเกิดความไม่เข้าใจในวงกว้าง วัคซีนโควิด-19 ทุกยี่ห้อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทุกวัคซีนยังมีการรวบรวมข้อมูล ศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 คือการใช้ในมนุษย์ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว มีคนติดเชื้อจำนวนมาก เขาก็ยอมให้ใช้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน คืออย่างน้อยไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์จนเกินที่เขาจะรับได้ และยังไม่สามารถบอกได้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้ว จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ เมื่อฉีดไปแล้วคนที่ติดเชื้อจะไม่ทวีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตไม่ถึงขั้นเข้าไอซียู แต่การแพร่เชื้อยังเกิดขึ้นได้แต่ฤทธิ์คงน้อยลง ทั้งนี้ ยังไม่มีการศึกษาไหนระบุว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะไม่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังต้องศึกษาต่อไป
เมื่อถามว่า หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะซื้อวัคซีนของบริษัทอื่น นายอนุทิน กล่าวว่า ซื้อไม่ได้ เขาไม่ขาย วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลต้องออกใบรับรอง ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเงื่อนไข
ถามต่อว่า กรณีที่ต่างประเทศยับยั้งการฉีดวัคซีนของบริษัท แอสตร้าเซเนก้า แล้วประเทศไทยจะมีการคัดกรองด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มีการคัดกรอง ซึ่งการขึ้นทะเบียนยา เขาขึ้นจากเอกสารข้อมูลที่ผู้ผลิตได้ส่งมาและมีการเทียบมาตรฐาน และเมื่อวัคซีนมาถึงไทยแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องนำไปตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ไปดูเรื่องความปลอดภัยให้มากที่สุดก่อน ไม่ใช่มาถึงวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ฉีดเลย
เมื่อถามว่า จะมีการขยับกรอบเวลาดำเนินการเรื่องวัคซีนอีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำ ได้ทำหมดแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะถามอีกว่า เครื่องบินเสียแล้วจะทำอย่างไร ไปลงผิดสนามบินจะทำอย่างไร ตู้แช่เสียจะทำอย่างไร เพราะขีดว่าออกใบสั่งซื้อแล้ว จ่ายเงินมัดจำแล้ว และได้รับการยืนยันว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อนุมัติการส่งออกแล้ว ซึ่งจีนได้ขึ้นทะเบียนการใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยพร้อมจะขึ้นทะเบียนวัคซีนในมาตรฐานเดียวกัน
“ที่มีบางรายการบอกว่า ประเทศไทยยังไม่ขึ้นทะเบียน เดี๋ยววัคซีนจะใช้ไม่ได้นั้น ผมเคยบอกว่าเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ฉะนั้นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือข้อมูลไม่พอ แต่มีสื่ออยู่ในมือ แล้วใช้สื่อพูดออกไป จะทำให้ประชาชนสับสนอลหม่านเป็นจำนวนมาก นี่เราจะถึงอยู่แล้ว เรามีสุขภาพประชาชนเป็นเดิมพัน ประชาชนรอวัคซีนอยู่ หมอทุกคน แพทย์ทุกคน ประชุมกันทุกวันตั้งแต่ 07.00 น.ไม่มีใครทำเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่นๆ ซีเรียสจนผมไปหมดแล้ว ก็ขอความเห็นใจด้วย ทุกคนช่วยกันคิดช่วยกันทำ มีปัญหาจะแก้ไขกันอย่างไร คิดกันล่วงหน้าโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดก็น้อย แต่ตอนนี้ความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า เอาปัญหามาขวาง ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ มาถึงแล้วจะฉีดได้หรือเปล่า ฉีดแล้วจะเป็นอะไรไหม อย่างนี้ก็ไม่จบ เราทำดีที่สุดอยู่แล้ว มีหมอคนไหนที่จะเอาของไม่ดีมาให้คนไข้ ทำไม่ได้หรอก เขามีจรรยาบรรณอยู่”นายอนุทิน กล่าว
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน ได้ส่งเอกสารประกอบการยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) มาที่ อย. ครบแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งคาดว่าน่าจะขึ้นทะเบียนได้เร็วๆ นี้ และทันต่อการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยในเดือนก.พ.นี้ เพราะจริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ทางซิโนแวคได้ทยอยส่งเอกสารมาตลอด และทางกรรมการผู้เชียวชาญของอย.ก็ทยอยพิจารณาไปแล้วเช่นกัน
นพ.ไพศาล กล่าวว่า นอกจากทางบริษัทจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ก็ทยอยส่งเอกสารเข้ามาให้พิจารณาเช่นเดียวกัน โดยสรุปวันนี้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนแล้วคือวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้า และอยู่ระหว่างพิจารณาอีก 2 ตัว คือ วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค และวัคซีนจากจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน ส่วนบริษัทอื่นๆ นั้นยังไม่มีมายื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม แต่ก่อนหน้านี้มีการคุยกันบ้าง เราก็อยากให้มาขึ้นทะเบียนเอาไว้เหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนเข้ามาแต่อย่างใด