ภาคประชาชน ยื่นหนังสือขอบคุณ “อนุทิน-สธ.” บังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดผลกระทบสุขภาพ –สังคม ย้ำ 15 ปี ถึงเวลาปรับแก้กฎหมาย ต้องเข้มขึ้น แนะปรับมาตรา 32 คุมห้ามใช้โลโก้เหมือนน้ำเมา โฆษณาน้ำดื่ม-โซดา ออกเกณฑ์ชี้วัดฝีมือกก.น้ำเมาจังหวัด ค้านสุดตัวข้อเสนอทุนน้ำเมาขอขยายเวลาขาย 11.00-24.00 น.
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง และภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน ยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ.ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี การบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แสดงความขอบคุณที่สธ.ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โดยมีนพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดสธ. เป็นผู้รับมอบหนังสือ
นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า วันที่ 14 ก.พ.ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ประชาชนกว่า 13 ล้านคนลงชื่อสนับสนุน เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งความรุนแรง อุบัติเหตุ อาชญากรรม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงได้ง่าย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ที่สำรวจผู้อายุ 15 ขึ้นไปพบว่าผู้ที่ไม่ดื่มเพิ่มจาก 38.68 ล้านคนในปี 2554 มาเป็น 41.04 ล้านคนในปี 2564 หรือมีนักดื่มลดลงประมาณ 2.3 ล้านคน เมื่อคำนวณปริมาณเอทานอล บริสุทธิ์ต่อหัวประชากรที่ดื่มพบว่า 7.1 ลิตรต่อปี ต้นทุนที่สูญเสียจากปัญหาการดื่มในปี 2564 สูงกว่า 1.65 แสนล้านบาท และยังพบผู้ต้องขังอายุไม่เกิน 25 ปี 88 % ดื่มสุราก่อนก่อเหตุ มีผู้เสียชีวิตจากโรคตับสัมพันธ์กับการดื่ม 2.5 หมื่นคนต่อปี ทั้งนี้ผลสำรวจความเห็นประชาชน 2564 พบว่า 70% เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณา และ 74 % ไม่เห็นด้วยที่จะขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงตีสี่ สอดคล้องกับจุดยืนของเครือข่ายที่คัดค้านในเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด
ด้าน นายธีระ วัชระปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ.นี้เครือข่ายฯ มีข้อเสนอ ดังนี้ ขอบคุณสธ.ที่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายใช้มานาน จึงสนับสนุนให้ปรับแก้ ยึดหลักการแก้ไขให้ดีและเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 32 ห้ามใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปโฆษณาสินค้าอื่น อาทิ น้ำดื่ม โซดา เป็นต้น มาตรา 29 ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาครองสติไม่ได้ สนับสนุนการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราอย่างจริงจัง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดสุราเข้าสู่การบำบัด เป็นต้น และ ขอให้สธ.กำหนดตัวชี้วัดการทำงานของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด รวมถึงกทม. เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นโยบายสธ.สนับสนุนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดผลกระทบจากสูญเสียทั้งจากากรเมาแล้วขับ อุบัติเหตุ โรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่พบการดื่มในอายุที่น้อยลง กลไกสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายซึ่งบังคับใช้มา 15 ปีแล้วจำเป็นต้องปรับแก้ให้ทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพ กลไกการทำงานของทุกภาคส่วนที่เข้มแข็ง และจะประสานหารทำงานให้เข้มแข็งขึ้นตามข้อเสนอเครือข่าย
ขณะที่นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับภาคประชาชได้เสนอเข้าไปที่สภายแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะหยิบมาพิจารณาเมื่อไหร่ ส่วนร่างฉบับของกรวงสาธารณสุข ยังต้องต้องกลับมาปรับปรุงตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทักท้วง ส่วนของการใช้โลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณาสินค้าอื่น ซึ่งในมาตรา 32 จริงๆ ฉบับก่อนใช้เมื่อปี 2551 มีข้อความกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามใช้ แต่ถูกตัดออก อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับนี้มีการเขียนให้มีความชัดเจนขึ้น จริงๆ ฉบับที่มีการใช้อยู่ปัจจุบัน ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าห้ามมีการโฆษณาส่งเสริมการตลาด ซึ่งจะรวมถึงการใช้ข้อความเชิญชวน โลโก้ต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เพียงเห็น หรือได้ยินก็สร้างการรับรู้.