โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดียูเนสโกรับรอง ‘คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ’ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ถือเป็นเอกสารโบราณสำคัญของชาติเป็นแหล่งรวมความคิด และประสบการณ์สะท้อนความหลากหลาย
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.66 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยินดีที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ให้การรับรอง ‘คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ’ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ได้พิจารณาวาระการขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก (Nominations of new items of documentary heritage to be inscribed on the Memory of the World International Register) ซึ่งได้ผ่านกระบวนการการพิจารณาโดย International Advisory Committee (IAC) แล้ว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ในครั้งนี้รับรอง โดยมีรายชื่อขึ้นทะเบียนทั้งหมด 64 รายการ และประเทศไทยได้เสนอขึ้นทะเบียนรอบปี ค.ศ. 2022-2023 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ โดยหนังสือสมุดไทย ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งไทยได้ขอให้ยูเนสโกมีคำอธิบายอย่างเป็นทางการเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้ถูกต้องต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ เป็นหนังสือใบลานจารด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี ที่มีทำนองการแต่งเป็นภาษาโบราณแบบเฉพาะของท้องถิ่น แทรกคติธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้ายกล่าวไว้ชัดเจนว่าหนังสือฉบับนี้อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405 ทั้งนี้ ไทย ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว 5 รายการ ได้แก่ 1.) ศิลาจารึก หลักที่ 1 (พ.ศ. 2546) 2.) เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม (พุทธศักราช 2411 – 2453) (พ.ศ. 2552) 3.) จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ. 2551 ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ พ.ศ. 2554 ในระดับโลก) 4.) บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ 100 ปี (พ.ศ. 2556) และ 5.) ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ (พ.ศ. 2559)
“นายกรัฐมนตรีภูมิใจในความเป็นไทย มีประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมายาวนานอย่างที่มีเอกลักษณ์ ประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งในด้านสังคม และวัฒนธรรม จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าการรับรองทั้ง 6 รายการเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก จะมีส่วนช่วยการอนุรักษ์ เผยแพร่ประสบการณ์ที่สะท้อนคิดริเริ่มต่าง ๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เข้าใจในความหมายและคุณค่า ซึ่งรัฐบาลเห็นว่า ไทยยังมีเอกสารที่เป็นมรดกความทรงจำของชาติอีกมากตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมเฉพาะตัว” นายอนุชาฯ กล่าว