วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังเป็นกลุ่ม 608 ติดจากครอบครัว-ไม่ได้วัคซีนตามเกณฑ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ยังเป็นกลุ่ม 608 ติดจากครอบครัว-ไม่ได้วัคซีนตามเกณฑ์

ปลัดสธ.เผยผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ติดเชื้อจากคนในครอบครัวและไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด กทม.-ปริมณฑล พบการระบาดสูงกว่าพื้นที่อื่น

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.66 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์การระบาดเป็นไปตามคาดการณ์ คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 ราย เฉลี่ยวันละ 424 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 60 กว่าราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิม คือ เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

“การฉีดวัคซีน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ เพราะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์การฉีดวัคซีนประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และหากลูกหลานป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ต้องไม่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้สูงอายุ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ในเขต กทม.และปริมณฑล พบมีการระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น จึงให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์และข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งความสามารถในการแพร่ระบาดและความรุนแรงไม่ได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม เตียงรองรับผู้ป่วยภาพรวมทั้งประเทศและกทม. ยังคงเพียงพอ อัตราครองเตียงอยู่ที่ 22% ขณะที่ยาที่ใช้ในการรักษามีเพียงพอเช่นกัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 16,650 ราย เสียชีวิต 17 ราย คาดว่าเดือนหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ต่างๆ พบว่าบางแห่งดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงกว่า 50% เช่น โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ และโรงงาน ซึ่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเรื่องการสำรวจและเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อไป ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกในช่วงแรกจะคล้ายคลึงกับโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก ได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วย หากมีอาการไข้ สงสัยโรคไข้เลือดออก ขอให้ปรึกษาแพทย์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img