สภาผู้บริโภค เตรียมชงเรื่อง กทม.ทบทวนก่อสร้าง 3 คอนโดในซอยแคบ หลังลงสำรวจพบถนนกว้างไม่ถึง 6 เมตรตามกฎหมายกำหนด ไม่ฟังความเห็น และกระทบชีวิตชุมชนดั้งเดิม
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมตัวแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานครร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม เอส ประดิพัทธ์ (ซอยประดิพัทธ์ 21 และ 23)โครงการเอส รัชดา (รัชดา ซอย 44 ) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) ที่อยู่ในซอยแคบ หลังมีประชาชนชุมชนดั้งเดิมกว่า 1 พันคนร้องเรียนว่า การใช้ชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างหลายเรื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารที่มีขนาดมากกว่า 9 พันตารางเมตร ภายในซอยแคบที่ถนนสาธารณะต้องมีความกว้าง 6 เมตรขึ้นไป
จากการลงสำรวจพื้นที่ พร้อมทดสอบวัดระยะความกว้างของถนนภายในซอยประดิพัทธ์ 23 ทางเข้าโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม เอส ประดิพัทธ์ พบตลอดเส้นของถนนทางเข้า เป็นย่านชุมชน มีทั้งตลาด ร้านค้า อพาร์ตเมนต์พบว่า ความกว้างของถนนสาธารณะมีระยะกว้างไม่ถึง 6 เมตร โดยวัดได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 – 5.8 เมตร ขณะที่ผิวการจราจรกว้าง 3.8 – 4 เมตร มีเพียงบางช่วงเท่านั้น ที่ความกว้างเกิน 6 เมตร
ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างคอนโดมิเนียมเดอะมูฟ ในซอย พหลโยธิน 37 ซึ่งสภาพพื้นที่ก่อสร้างเป็นซอยคับแคบและลึก มีชุมชนดั้งเดิม รวมถึง โรงเรียนมีนักเรียน 1,700 คนและครูอีก 200 คนตั้งอยู่ จากการวัดระยะความกว้างของถนนในซอยพบว่า ส่วนใหญ่ยังมีระยะความกว้างไม่ถึง 6 เมตร ซึ่งการให้ใบอนุญาตก่อสร้างชั่วคราวตามมาตรา 39 ทวิ ที่ได้รับไปจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ จึงอยากให้ทบทวนการก่อสร้าง โดยในระหว่างการสำรวจ แกนนำชุมชม ยังสะท้อนปัญหาผลกระทบจากถนนที่คับแคบ จะซ้ำเติมปัญหาการจราจร ในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งช่วงเช้าและเย็น รวมถึง ยังห่วงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งฝุ่นละออง เสียงและแรงสั่นสะเทือน
สำรวจพื้นที่การก่อสร้างโครงการเอส รัชดา ซอยรัชดาภิเษก 44 ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ มีผู้อยู่อาศัยกว่า 750 ครัวเรือน และมีโรงพยาบาลขนาด 200 เตียงในซอยดังกล่าว ถนนสาธารณะตามสภาพความเป็นจริงมีความกว้างเฉลี่ย 4.6 เมตร ซึ่งไม่ถึง 6 เมตรตามกฎหมาย อีกทั้งมีการแบ่งอาคารเป็น 2 แปลง เพื่อไม่ให้เกิน 1 หมื่นตารางเมตร
สภาผู้บริโภค ชี้ว่า ปัญหาการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมในซอยแคบเป็นเรื่องสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค ทั้งผู้อาศัยในอาคาร ชุมชน โดยหากเกิดเพลิงไหม้ ในชุมชนหรืออาคารสูง การเข้าออก ของรถดับเพลิง รถกระเช้า รถพยาบาล ซึ่งมีขนาดใหญ่ จะไม่สามารถเข้าระงับเหตุ หรือ ช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่จอดรถที่ไม่เพียงพอ จนนำไปสู่การจอดรถกีดขวางการจราจร ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตที่เป็นสิทธิพื้นฐานควรเท่าเทียมกันของทุกคน ซึ่งข้อร้องเรียนและการตรวจสอบนี้ จะช่วยป้องกันปัญหาไม่ให้บานปลาย เกิดความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการก่อสร้าง ชุมชน จนนำไปสู่การฟ้องร้อง รื้อถอน อย่างที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในซอยร่วมฤดี และแอชตัน อโศก มาแล้วและแนวโน้มการก่อสร้างอาคารสูงในซอยจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ
ดังนั้น จึงอยากให้ กรุงเทพมหานคร หาทางออกให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะความกว้างของถนน และ ทบทวนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ หรือ ควรก่อสร้างขนาดไม่เกิน 2 พันตารางเมตรแทน
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เป็นภาระให้ชุมชนไปฟ้องร้อง โดยประเด็นดังกล่าวนี้ ทางสภาผู้บริโภคเคยยื่นข้อเสนอทบทวนการก่อสร้างไปก่อนหน้านี้แล้ว และวันนี้หลังการสำรวจพื้นที่ สภาผู้บริโภคจะทำหนังสือเป็นรายงานเสนอขอให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบการทั้ง 3 โครงการ คณะกรรมการผู้ชำนาญการศึกษาผลกระทบ เพื่อให้ร่วมแก้ไข ทบทวนการก่อสร้างให้หากยังเดินหน้าก่อสร้างก็จะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
เลขาธิการ สภาผู้บริโภค ระบุด้วยว่า จะได้จัดทำบันทึกข้อมูลเสนอการใช้งบเพื่อศึกษาผลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ จากที่ใช้งบประมาณจากบริษัท มาเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ในลักษณะของกองทุนที่มีบริษัทสนับสนุนแทน ทั้งนี้เพื่อความอิสระและโปร่งใสในการศึกษาของคณะกรรมการ ไม่เข้าข้างบริษัทและฟังความเห็นของประชาชน
ขณะที่ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคารกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าขณะนี้ เรื่องของความกว้างของถนน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายให้สำนักการโยธา รื้อข้อกฎหมายควบคุมอาคารใหม่ทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายขึ้นใหม่ ตามที่พื้นฐาน และความเห็นของประชาชน ซึ่งจะรวบรวมปัญหาและเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว สามารถร้องเรียนทางสภาผู้บริโภคตามช่องทางดังต่อไปนี้
แจ้งเบาะแส คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php
ร้องเรียนออนไลน์ คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค
อีเมล : [email protected]