“หมอธีระ” อธิบายเหตุที่ยุโรปกังวลเรื่องวัคซีนกับลิ่มเลือดอุดตัน ชี้การตัดสินใจรับหรือไม่รับวัคซีน จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ควรเชื่อการพีอาร์ หรือคำบอกเล่าเก้าสิบเชิญชวน ย้ำวัคซีนเป็นสารเคมีล้วนมีความเสี่ยง ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างสรรพคุณที่คาดหวังกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat หัวเรื่อง “เหตุที่ยุโรปกังวลเรื่องวัคซีนกับลิ่มเลือดอุดตัน” มีเนื้อหาว่า…เยอรมันฉีดไป 1.6 ล้านคน แล้วพบว่ามีถึง 7 คน อายุ 20-50 ปี ที่มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันหลังจากที่ได้รับวัคซีน โดยมีอาการรุนแรง 6 คนจากทั้งหมด 7 คน เป็นผู้หญิงอายุน้อย โดยที่น่าตกใจคือ เป็นภาวะอุดตันในเส้นเลือดดำของสมอง ที่เรียกว่า sinus vein thrombosis ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เจอได้น้อยมาก ส่วนอีกหนึ่งคนที่เหลือก็มีอาการคล้ายกับ 6 คนอย่างมาก ทั้ง 7 คนนี้ เสียชีวิตไปแล้ว 3 คน
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการหยุดฉีดวัคซีน เพื่อสืบสวนหาข้อมูลเชิงลึก และนำมาพิจารณาในการประชุมของ European Medicines Agency (EMA) ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคมที่จะถึงนี้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นจะเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนหรือไม่
ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันว่า การจะฟันธงว่าวัคซีนเป็นสาเหตุโดยแท้จริงหรือไม่นั้น คงเป็นไปได้ยากมาก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว และเป็นการสืบสวน เก็บข้อมูลย้อนหลัง เพื่อนำมาพิจารณา ในทางระบาดวิทยา เรามักจะต้องใช้หลายเรื่องมาประกอบกัน ตามหลักการที่เรียกว่า Bradford Hill’s criteria หรือ Hill’s criteria for causation ซึ่งมีอยู่ 10 ข้อ ได้แก่ strength, consistency, specificity, temporality, dose-response relationship, biological plausibility, coherence, experiment, analogy, reversibility
พอพิจารณาในบางข้อข้างต้น ก็มีข้อมูลที่น่ากังวลจนอาจทำให้หลายคนชั่งใจอย่างหนักในการตัดสินใจจะรับหรือไม่รับวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเรื่อง strength ของปัญหา ที่ทางเยอรมันได้มีการประเมินว่า การอุดตันในหลอดเลือดดำในสมองนั้น หากคิดคาดประมาณในคนปกติทั่วไป 1.6 ล้านคน จะมีโอกาสเกิดเพียง 1 คนเท่านั้น ในขณะที่ปรากฏการณ์นี้เกิดถึง 6-7 คน นอกจากนี้ในแง่ของเงื่อนเวลาก็มีความเป็นไปได้ เพราะผู้ป่วยทุกคนมีปัญหาหลังได้รับไป 4-16 วัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่วิเคราะห์กันข้างต้นนั้นถือเป็นเพียง 2 จาก 10 ข้อ หากพิจารณาตาม Hill’s criteria for causation ซึ่งเราคงต้องรอลุ้นเอาใจช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลในข้ออื่นๆ มาเพื่อวิเคราะห์หาข้อสรุปกัน โดยระหว่างนี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศในยุโรปจำนวนไม่น้อยได้ตัดสินใจที่จะหยุดการแจกจ่ายวัคซีนไปก่อน เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนของประเทศตน
เหนืออื่นใด สัจธรรมคือ ยาหรือวัคซีนใดๆ ก็ตาม ล้วนเป็นสารเคมี และมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงได้เสมอ ตั้งแต่อาการน้อยๆ ไปถึงรุนแรง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างสรรพคุณที่คาดหวังได้จริง และความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดขึ้น
ยิ่งหากเป็นวัคซีนชนิดใหม่ๆ ซึ่งเพิ่งได้รับการนำมาใช้นั้น การตัดสินใจรับหรือไม่รับวัคซีน จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เห็นรายละเอียด ตรวจสอบได้ มาใช้ในการพิจารณาตัดสินใจ ไม่ควรเชื่อเพียงการประชาสัมพันธ์ คำบอกเล่าเก้าสิบการันตีเชิญชวนของบุคคลหรือหน่วยงานเท่านั้น
หากฝึกฝนให้ประชาชนมีสมรรถนะในการคิดวิเคราะห์ เข้าถึงแหล่งข้อมูล ค้นหาข้อมูล ทำความเข้าใจ และนำมาตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณืที่ตนเองเผชิญได้ นั่นจะนำไปสู่สังคมที่มีความรอบรู้ รู้เท่าทัน และมีความสามารถในการต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยรักและปรารถนาดี