วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS''สภาผู้บริโภคฯ''พอใจหลัง'ชัชชาติ'รับทราบปัญหาสร้างอาคารสูงในซอยแคบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”สภาผู้บริโภคฯ”พอใจหลัง’ชัชชาติ’รับทราบปัญหาสร้างอาคารสูงในซอยแคบ

สภาผู้บริโภค พอใจ หลังผู้ว่าฯ กทม.รับทราบปัญหาและข้อเสนอของสภาผู้บริโภคและประชาชน จากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ และร้องขอเปิดรับฟังความเห็นร่วมทำผังเมืองรวมกทม.ลดปัญหา กระทบ ละเมิดสิทธิประชาชน รวมถึง สนับสนุนการจัดทำระบบFeeder 20 บาทตลอดสาย

หลังสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ 3 ชุมชน ประกอบด้วย โครงการเอสประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ซอย 23 ) โครงการเอส รัชดา (รัชดา ซอย44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) อาจดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย เรื่องความกว้างของถนน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึง ความไม่ปลอดภัย และกระทบกับชุมชนดั้งเดิม พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหา วัดระยะความกว้างถนนในซอย พร้อมเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครและสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค พร้อมตัวแทนชุมชน 3 ชุมชน ที่เข้ายื่นหนังสือผลการลงพื้นที่และสรุปเป็นรายงาน พร้อมข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหา สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ระบุว่า ในรายงานจะมีรายละเอียดปัญหาที่พบของทั้ง 3 โครงการ อาทิ ระยะความกว้างหากวัดจากกำแพง 2 ฝั่ง บางช่วงรวมกันได้ 6 เมตร แต่สภาพพื้นที่จริงในซอยมีทางเท้า ร่องน้ำ เสาไฟฟ้า สิ่งกีดขวางอื่น ๆ ทำให้ผิวการจราจรถูกตัดทอน ทำให้เกิดปัญหาการจราจร หรือเกิดไฟไหม้รถดับเพลิง และความช่วยเหลือจะเข้ามาได้ยากลำบาก รวมถึง ผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่น และผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ความไม่ปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภค

ขณะที่สภาผู้บริโภค จัดทำข้อเสนอแนะเรื่องปัญหาการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ แบบเร่งด่วน โดยขอให้ กรุงเทพมหานคร ระงับขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ เพื่อประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยต้องพิจารณาจากบริบทชุมชนและการพัฒนาเมืองเป็นหลัก และข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุน EIA เป็นกองทุนอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง โปร่งใสในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอขอแก้ไขกฎหมายข้อบัญญัติกรุงเทพมหานนคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ที่กำหนด “เขตทาง” และ “ผิวจราจร”​ ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารในเรื่องความปลอดภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย รวมถึง กำกับดูแลขั้นตอนการก่อสร้างอาคารใน กทม.อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหากระทบผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังขอให้ กทม.ตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค และผู้เชี่ยวชาญ ทบทวนการใช้และการมีต่อของมาตรา 39 ทวิ ใน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังได้ยื่นข้อเสนอการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่ได้จากการจัดเวทีเสวนาภาคประชาชน เพื่อให้ผู้ว่าฯกทม. ทบทวนกระบวนการรวบรวมข้อมูลในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครใหม่ โดยควรมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม รับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็นและชี้แจงประชาชนให้เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ กฎหมายผังเมือง มีความสำคัญ เนื่องจากเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายฉบับ อาทิ กฎหมายควบคุมอาคารกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ในการดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง การก่อสร้างโครงการในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากละเลย หรือ ละเมิด จะส่งผลกระทบกับชีวิต สวัสดิภาพ ความปลอดภัย สุขอนามัย ประชาชน โครงสร้างคมนาคม การขนส่ง ที่การขยายเส้นทาง ส่งผลต่อประชาชน อาทิ การเวนคืนที่ดิน ที่ไม่ได้ปรึกษาหารือ และเปิดรับฟังความเห็น เพื่อให้ประชาชนรับทราบก่อนที่จะสรุปและจัดทำผังเมืองใด ๆ

และในโอกาสเดียวกันนี้ สภาผู้บริโภคสนับสนุนการจัดทำระบบ feeder ขนส่งมวลชนในราคา 20 บาทตลอดสายเพื่อเพิ่มการบริการประชาชน รถไฟฟ้าสายสีม่วง และสีแดง และอาจเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน สีเหลืองที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในประเด็นนี้ นายชัชชาติ ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างดำเนินการคณะทำงานเร่งรัดดำเนินการแล้ว โดยผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้แทนของชาวกรุงเทพมหานคร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดเส้นทาง จะต้องมีการหารือ ทั้งราคาค่าบริการ และอื่น ๆ โดยหากสภาผู้บริโภคมีแนวทางหรือต้องการอย่างไรก็ขอเสนอเข้ามา
โดยผู้ว่าฯ กทม.เชื่อว่า การจัดทำfeeder จะช่วยทำให้การใช้บริการมีการเชื่อมต่อ และเป็นประโยชน์กับสาธารณะและประชาชนสำเร็จ

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ได้รับปากจะพิจารณาข้อเสนอที่เสนอเข้ามาและจะมีนัดหมายเพื่อพูดคุยกันอีกครั้ง ขณะที่ในอีก 2 สัปดาห์ สภาผู้บริโภค จะเข้าพบเพื่อหารือความคืบหน้าในเรื่องนี้อีกครั้ง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img