“วราวุธ” ส่งทีมสหวิชาชีพประกบ เด็ก 14 ปี ก่อเหตุรุนแรง ย้ำผู้ปกครองต้องมอนิเตอร์ลูก-หลานเสพสื่อ กระตุกสังคม อย่าส่งต่อภาพความรุนแรงซ้ำเติมสังคมหดหู่-เกลียดชัง ลั่นถึงเวลารัฐเดินหน้าระบบเตือนภัยฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.66 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวถึงเหตุความรุนแรงที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากผู้ก่อเหตุ เป็นเด็กอายุเพียง 14 ปี ทางพม.โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้มีการส่งทีมสหวิชาชีพเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเวลา 20.00 น. เพื่อทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจใจการสอบถามข้อมูลจากเด็กผู้ก่อเหตุ และอยู่ร่วมกันในทุกๆ ขั้นตอน แต่ตนยังไม่ได้รับรายงานในการพูดคุยจากทีมสหวิชาชีพในพื้นที่แต่อย่างใด และจากนี้จะมีการดูแลเรื่องสภาพจิตใจผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้สูญเสีย ผ้ก่อเหตุ และประชาชนที่รับฟังข่าวสารตลอดอาจจะมีความหดหู่ ก็สามารถปรึกษาเข้ามาที่สายด่วน 1330 ได้
นายวราวุธ กล่าวว่า จากนี้จะเป็นการทำงานเชิงรุก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนบ่งชี้ได้ดีว่าบทบาทของพ.มจากนี้ไปมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งในมิติของการเยียวยา การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต อันใกล้ ที่สำคัญคือการมีสหวิชาชีพนักจิตวิทยาเข้าไปพูดคุยกับแต่ละเคสที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่แค่ทำฉาบฉวยพอมีข่าวผ่านหน้าสื่อแล้วหายไป แต่จะทำงานตั้งแต่แรก จนถึงตอนจบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ละเคสเราจะเยียวยาแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร
รมว.พม. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอความร่วมมือ ไม่ส่งต่อ ภาพความรุนแรง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าหน่วยงานใดเข้าถึงที่เกิดเหตุเป็นชุดแรก แต่ว่าภาพต่างๆที่ออกมาก็มาจากที่เกิดเหตุ ดังนั้นน่าจะเป็นการหลุดออกมาจาก หน่วยงานที่เข้าไปในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วของว่าอย่าส่งต่อกัน เพราะจะก่อให้เกิดความเกลียดชังเกิดความหดหู่ในสังคมไทย เชื่อว่าเช้านี้บางคนจิตใจห่อเหี่ยวจิตตกจากการเสพข่าวมากเกินไป อย่าซ้ำเติมสังคมไทยที่มีความบอบช้ำ จากปัญหาต่างๆ ซึ่งคนที่จะช่วยได้ดีนอกจากกระทรวงพม. แล้วก็คือสื่อมวลชนขอความกรุณาเสนอข่าว ใช้คำพูดในการพาดหัวการโปรยข่าวขอให้ใช้ความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สังคมได้รับผลกระทบมากเกินไป
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการครอบครองปืนนั้น เชื่อว่า กระทรวงมหาดไทยน่าจะทราบเรื่องดีว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามฝากผู้ปกครองด้วยว่าเนื้อหา ที่ลูก หลานตัวเองเสพอยู่ ผ่านสื่อต่างๆ เป็นย่างไร อย่าโทษการ์ตูน โทษสื่อ ต้องกลับมาดูว่าในครอบครัวมีการเฝ้าระวัง ลูก หลานอย่างไร มีการจำกัดการเข้าถึงสื่อเหล่านั้นอย่างไร อย่างไรก็ตามฝากหน่วยงานภาครัฐว่าจะต้องมีการกรอกเนื้อหาที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
รมว.พม. กล่าวอีกว่า ตนคิดว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องมีระบบการแจงเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency broadcast) เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุได้ระวังตัว เพราะบางครั้งขนาดเดินเข้าห้างฯ ยังได้รับข้อความโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนทำได้ภาครัฐก็ คงไม่น่าจะเหนือบ่ากว่าแรง เชื่อว่าไม่มีอะไรที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งที่จริงๆ คนที่รับผิดชอบอาจจะกำลังคิด และกำเนินการอยู่ก็ได้ แต่ถ้าคิดไม่ออกว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ กระทรวงพม. จะเป็นเจ้าภาพให้ เพียงแค่จัดสรรงบประมาณมาให้ ส่วนตัวจะคอยติดตามดูว่ามีการดำเนินการหรือเปล่าถ้ายังไม่มี เชื่อว่าในครมอังคารหน้าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้แน่นอน.