กต.เผยคนไทยขอกลับปท.3,226คน ยันมาถึงสุวรรณภูมิล็อตแรก15คน 12 ต.ค. ส่วนล็อต 2 กลับอีก 80 คน วันที่ 18 ต.ค. สรุปยอดรวมคนไทยดับ 18 ราย ส่วนแรงงานไทยถูกขายต่อแค่ส่งย้ายที่ทำงานในที่ปลอดภัย
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.66 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงความคืบหน้าสถานการณ์ในประเทศอิสราเอลว่า สถานการณ์ยังมีความรุนแรง โดยยังมีการปะทะกันระหว่าง 2 ฝ่ายบริเวณฉนวนกาซา และการโจมตีขยายวงไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย ขณะที่กองทัพอิสราเอลพยายามเข้ายึดพื้นที่คืน พร้อมกับช่วยอพยพประชาชนออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงได้มีการประกาศว่าสามารถกระชับพื้นที่เมืองต่างๆได้แล้ว และอพยพประชาชนออกจากฉนวนกาซาได้แล้ว 15 เมือง จากที่มีทั้งหมด 24 เมือง ได้มีการระดมกำลังกองหนุน 300,000 คน ซึ่งถือเป็นการระดมพลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลนั้น ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 คน จึงรวมเป็น 18 คน จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บยังอยู่ที่ 9 คน และผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันยังมี 11 คน ทั้งนี้กองทัพอิสราเอลได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุดไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานไทยรวมอยู่ด้วยหลายร้อยคน ขณะเดียวกัน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้นำรายชื่อแรงงานไทยผู้ที่ญาติไม่สามารถติดต่อได้ ส่งให้ตำรวจของอิสราเอลและองค์กรเอกชนของอิสราเอลช่วยติดตามตัวแรงงานไทยด้วย ซึ่งทางการอิสราเอลได้นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ในการติดตามผู้สูญหาย
นอกจากนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ได้หารือทางโทรศัพท์กับรมว.ต่างประเทศอิสราเอล เมื่อค่ำวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายอิสราเอลได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์นี้ และให้คำมั่นว่าจะพยายามดูแลคนไทยในอิสราเอลอย่างดีที่สุด พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่นายปานปรีย์ได้ย้ำว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของคนไทยในอิสราเอล และขอให้อิสราเอลทำทุกวิถีทางปกป้องคนไทยให้ปลอดภัย และเร่งช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน อีกทั้งยังขอให้ทางการอิสราเอล ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเป็นทางการด้วยในโอกาสแรก ส่วนข่าวที่ว่าฝ่ายฮามาสระบุว่าถ้าฝ่ายอิสราเอลเข้าโจมตี จะสังหารหรือทำร้ายตัวประกันนั้น เท่าที่เราได้หารือกับฝ่ายต่างๆ ทราบว่ากลุ่มฮามาสไม่น่าจะทำร้ายคนต่างชาติ และไม่น่าจะขยายความขัดแย้งไปมากกว่านี้
นางกาญจนา กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ จะส่งแรงงานไทยกลุ่มที่ 1 จำนวน 15 คน ในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับการรักษาแล้ว สามารถเดินทางได้ จำนวน 4 คน และเป็นแรงงานที่อพยพจากพื้นที่เสี่ยงภัยมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอีก 11 คน โดยจะเดินทางกลับด้วยเครื่องบินพาณิชย์ สายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY 083 ออกเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ ในเวลา 21.45 น. และมาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 12 ต.ค. เวลา 10.35 น. โดยจะหน่วยงานไปรับและให้กำลังใจคนไทยกลุ่มแรกที่จะกลับมา จากนั้นสถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังพยายามจัดเที่ยวบินอพยพเพิ่มเติม คาดว่าเที่ยวบินต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 18 ต.ค. จำนวน 80 ที่นั่ง โดยล่าสุดมีผู้แสดงความประสงค์จะขอขึ้นเครื่องบินเพื่ออพยพกลับไทย 3,226 คน (สถานะเมื่อคืนวันที่ 9 ต.ค.)
นางกาญจนา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ เริ่มมีการอพยพแล้ว โดยเฉพาะประเทศในยุโรป โดยใช้เครื่องบินทหาร เครื่องบินพาณิชย์ หรือเครื่องบินแห่งชาติของตัวเอง อาทิ โปแลนด์ ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในวันที่ 15 ต.ค.นี้ กรีซ โรมาเนีย ฮังการี เซอร์เบีย บัลแกเรีย อัลแบเนีย มาเซโดเนีย และโคโซโว ได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนประเทศที่กำลังดำเนินการคือ บราซิล และชิลี เป็นต้น
ด้าน น.ส.พรรณภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ พยายามทำทุกวิถีทางและระดมสรรพกำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทั้งหมดในการติดตามและติดต่อกับแรงงานไทยทุกคน แต่ตอนนี้อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม และมีการแบ่งโซนพื้นที่ ซึ่งทำให้การช่วยเหลือประชาชนทั้งคนอิสราเอลและต่างชาติ ทางการอิสราเอลต้องไปช่วยทีละโซน เรียงลำดับจากโซนอันตรายที่สุดก่อน ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลา จึงอยากขอให้ทุกคนเข้าใจข้อจำกัดนี้ ขณะเดียวกัน เราตระหนักดีถึงความเดือดร้อนและคำร้องขอความช่วยเหลือจากคนไทย และเราได้ประสานงานกับทางการอิสราเอลเป็นระยะๆเพื่อให้เขาส่งกองกำลังเข้าไปช่วยคนไทยออกมา และขอให้คำมั่นว่าจะช่วยคนไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ให้ได้มากที่สุด
น.ส.พรรณภา กล่าวอีกว่า ส่วนคนไทยกลุ่มแรก 15 คนจะเดินทางกลับประเทศนั้น จะขึ้นเครื่องบินออกจากอิสราเอลในวันที่ 11 ต.ค.นี้ ซึ่งในวันนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯจะตั้งจุดบริการที่สนามบิน เพื่อออกเอกสารเดินทางชั่วคราว (ซีไอ) ให้กับคนไทยที่ไม่มีเอกสารสำหรับใช้ในการเดินทางติดตัวมาด้วย จึงขอยืนยันว่าเราจะทำให้คนไทยทั้ง 15 คนนี้เดินทางออกไปได้ ยกเว้นจะเกิดเหตุสุดวิสัย อาทิ สนามบินปิด ส่วนกรณีที่สถานเอกอัครราชทูตฯเปิดให้คนไทยที่ต้องการกลับประเทศลงทะเบียนแล้ว ตอนนี้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ กำลังทยอยโทรศัพท์ติดต่อกลับไปหาทุกคนที่ลงทะเบียน เพื่อยืนยันข้อมูลที่ใช้ในการจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน และตรวจสอบที่พักปัจจุบันของคนเหล่านั้นเพื่อสำหรับการไปรับ ทั้งนี้ตนขอย้ำว่าการเดินทางในเวลานี้ทำได้ไม่ง่ายนัก ในบางพื้นที่ที่ใกล้กับฉนวนกาซานั้น เราไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเลย อย่างไรก็ตาม เราขอให้คำมั่นว่าจะพยายามช่วยเหลือชาวไทยให้ได้มากที่สุด
เมื่อถามว่า สถานเอกอัครราชทูตฯทราบพิกัดที่ตัวประกันชาวไทยที่ถูกจับไปหรือไม่ น.ส.พรรณนภา กล่าวว่า พยายามสอบถามกับทางการอิสราเอลแล้ว แต่เขาบอกว่ายังไม่ทราบ ทำให้เรายังไม่มีข้อมูล ทั้งนี้ทางการอิสราเอลอาจจะทราบแต่ไม่ได้บอกเรา ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นเรื่องปฏิบัติการของเขาในการช่วยเหลือตัวประกัน
ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่ว่า มีแรงงานไทยบางส่วนยังถูกบังคับให้ทำงาน หรือนำไปขายแรงงานต่อให้นายจ้างอื่น น.ส.พรรณนภา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกรณีที่นายจ้างนำแรงงานออกมาจากพื้นที่ที่เสี่ยงภัยแล้วไปฝากไว้กับโมชาฟหรือคิบบุตซ์ (นิคมเกษตรกรรม) หรือนายจ้างในพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทางการอิสราเอลถือว่าเป็นการย้ายงานหรือการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นได้ทำงานและมีรายได้สำหรับการดำรงชีพในอิสราเอลต่อไป แต่เราก็เข้าใจว่าแรงงานไทยที่อพยพออกมาก็ต้องการพัก หลังจากที่เพิ่งเสี่ยงภัยมา เราจึงได้ติดต่อกับทางการอิสราเอลแล้วว่าขอให้แรงงานไทยมีช่วงพักเบรกก่อน
เมื่อถามว่า จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยที่เสียชีวิตอย่างไร น.ส.พรรณนภา กล่าวว่า ทางการอิสราเอลขอให้ความสำคัญกับกรณีของผู้ที่มีชีวิตอยู่และติดอยู่ในที่ที่อันตรายก่อน จึงยังไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถนำร่างของผู้เสียชีวิตกลับประเทศได้โดยเร็ว