วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSเด็กไทยซื้อ"บุหรี่ไฟฟ้า"ออนไลน์ 80% สธ.ชง อายุ 21 ปีซื้อบุหรี่ได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เด็กไทยซื้อ”บุหรี่ไฟฟ้า”ออนไลน์ 80% สธ.ชง อายุ 21 ปีซื้อบุหรี่ได้

กรมคววบคุมโรค ห่วงเด็กไทยสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” สูง 17.6% รับรู้พิษภัยลดลง ซื้อผ่านออนไลน์ 80% ยืนยันต้องคงมาตรการห้ามขายนำเข้า ชงเพิ่มอายุซื้อบุหรี่เป็น 21 ปี ทำเป็นวาระชาติ อย่าให้ค่าคนดันเปิดตลาดในไทย

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดงานเสวนา “เจาะลึก เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ว่า กลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน โดยมีทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และซึมซับโดยไม่รู้ตัว และการตลาดต่อไปในอนาคตจะลงไปในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวน ซึ่งเป็นสารที่ทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน ดังนั้นต้องช่วยกันแก้ปัญหา ให้ความรู้ตรงเป้าหมาย

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พบ 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 3.3% ในปี 2558 มาเป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า 2.อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์มุ่งเป้าที่เด็ก มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว คือ จาก 27% เป็น 48% 3.ความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับภัยบุหรี่ลดลง การตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจาก 72.2% เหลือ 59% โดยเด็กอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวล และ 4.เด็กรับรู้เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทางสื่อ จาก 74.9% เหลือ 61.3% กิจกรรมรณรงค์ลดลงจาก 72.2% เหลือ 62.4% ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ลดลงจาก 38.4% เหลือ 28.6% การให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ในโรงเรียนลดลง จาก 76.2% เหลือ 65.8%

นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้นำเรื่องนี้เข้าไปในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการ คือ 1. กำกับมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรณณงค์สร้างความตระหนัก การบังคับใช้การเฝ้าระวัง ทุกจังหวัดต้องเร่งดำเนินการ 2.ยกระดับเรื่องการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีคนขาย และ 3.การปรับกระบวนการสื่อสาร เพิ่มช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันพบว่า เด็กมีการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์เกือบ 80 % ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทำงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ไม่เช่นนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจะแทรกซึมแพร่หลายมากขึ้น เกิด New Generation Addiction หรือยุคสมัยของการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น และขณะนี้ได้หารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำ Drop Box ริบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่โรงเรียน

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลกและอาเซียน เพราะการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่สวยงาม ทำให้เข้าถึงง่าย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง สำหรับประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า พบโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าใน TIKTOK ว่าสูบแล้วเท่ ดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ 98% อินโดนีเซีย บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายทำให้ควบคุมไม่ได้ ส่วนฟิลิปปินส์มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์กว่า 16,376 ร้าน ทั้งนี้ในสิงคโปร์มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ฝ่าฝืนมีค่าปรับสูง ควบคู่การรณรงค์เข้มแข็งเข้าถึงทุกกลุ่ม และทั่วโลกมี 45 ประเทศที่ห้ามเด็ดขาด แต่จากบทเรียนประเทศอาเซียน ภาคธุรกิจรุกหนักมากที่จะให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ อ้างว่ารัฐบาลจะได้เก็บภาษี ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ คือประเทศที่ห้ามขายอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ห้ามการปรุงแต่งรสชาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี รัฐต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องมีมาตรการและเข้มงวดไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องสกัดการขายออนไลน์

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.ยังคงจุดเดิมคือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สสส. สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเข้าถึงของเด็ก และจะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่างๆ ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล ข้อเท็จจริง อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ทำให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวในหัวข้อเบื้องลึก เบื้องหลัง ความเคลื่อนไหวให้เปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ว่า บริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นอย่างหนัก เพื่อให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ โดยเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะยกอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยโดยนักข่าวสายสืบสวนของ Time of London ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษอาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพทย์และนักวิชาการอังกฤษที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับบริษัทบุหรี่ เช่น ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและเบี่ยงเบนผลกระทบต่อเด็ก ล็อบบี้นักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษ สนับสนุนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้อ้างเรื่องสิทธิการสูบ และโจมตีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำรอยกับที่อังกฤษโดยเฉพาะ พบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรให้คุณค่ากับคนกลุ่มนี้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img