วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“หมอธีระ”ยอมรับ‘เอาไม่อยู่-คุมไม่อยู่’ แนะรัฐลดทิฐิ-ปลดล็อกให้นำเข้าวัคซีน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หมอธีระ”ยอมรับ‘เอาไม่อยู่-คุมไม่อยู่’ แนะรัฐลดทิฐิ-ปลดล็อกให้นำเข้าวัคซีน

“หมอธีระ” ยอมรับ “เอาไม่อยู่-คุมไม่อยู่” ไม่มีทางแบ่งโซนสีได้ ชี้สิ่งที่เห็นระบาดตอนนี้ยังไม่ใช่ของจริง แนะรัฐควรลดทิฐิ ปลดล็อกกฎระเบียบ นำเข้าวัคซีนคุณภาพสูงและปลอดภัยมาให้ปชช. วอนให้วางแผนการใช้ชีวิตดีๆ เพราะระบาดรอบนี้มีผลต่อเศรษฐกิจ-สังคมมากกว่าปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 8 เม.ย.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” ว่า สถานการณ์ทั่วโลก 8 เม.ย.64…อินเดียพุ่งพรวดวันเดียวแสนสอง, บราซิลติดเพิ่มเฉียดแสน, ตุรกีติดเพิ่มเกินห้าหมื่น เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 658,461 คน รวมแล้วตอนนี้ 133,648,291 คน ตายเพิ่มอีก 12,796 คน ยอดตายรวม 2,897,623 คน, อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 70,557 คน รวม 31,558,576 คน ตายเพิ่ม 822 คน ยอดเสียชีวิตรวม 571,082 คน อัตราตาย 1.8%, บราซิล ติดเพิ่ม 90,971 คน รวม 13,197,031 คน ตายเพิ่มถึง 3,733 คน จำนวนเสียชีวิตต่อวันมากที่สุดในโลก ยอดเสียชีวิตรวม 341,097 คน อัตราตาย 2.6% , อินเดีย ติดเพิ่ม 126,315 คน รวม 12,926,061 คน ตายเพิ่ม 684 คน ยอดเสียชีวิตรวม 166,892 คน อัตราตาย 1.3%, ฝรั่งเศส ยังไม่มีรายงานเพิ่ม ยอดรวม 4,841,308 คน ยอดเสียชีวิตรวม 97,273 คน อัตราตาย 2%, รัสเซีย ติดเพิ่ม 8,294 คน รวม 4,606,162 คน ตายเพิ่ม 374 คน ยอดเสียชีวิตรวม 101,480 คน อัตราตาย 2.2%

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร อิตาลี ตุรกี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน, แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น, แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า, แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง, เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน เมียนมาร์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…อัพเดตเรื่องวัคซีน Astrazeneca……ล่าสุดองค์กร European Medicines Agency (EMA) ซึ่งดูแลเรื่องความปลอดภัยของยาและวัคซีนของยุโรป ได้ข้อสรุปหลังจากทำการทบทวนหลักฐานวิชาการต่างๆ แล้ว สรุปว่า “มีความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะมีความเชื่อมโยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกร็ดเลือดต่ำ” ผลข้างเคียงที่รุนแรงนี้มักเกิดขึ้นในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี และมักเกิดภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน ลิ่มเลือดอุดตันนั้นสามารถเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดดำในสมอง (cerebral venous sinus thrombosis, CVST) และช่องท้อง (splanchnic vein thrombosis) และสามารถเกิดอุดตันในหลอดเลือดแดงได้ด้วย โดยสามารถเจอเกล็ดเลือดต่ำ และภาวะเลือดออกได้เช่นกัน

จากข้อมูลที่รวบรวมถึงวันที่ 22 มี.ค. 2021 พบว่ามีผู้ที่เกิดภาวะอุดตันของหลอดเลือดดำในสมอง หรือ cerebral venous sinus thrombosis ถึง 62 คน และอุดตันของหลอดเลือดดำในช่องท้อง 24 คน โดยเสียชีวิตไปรวม 18 คน จากการฉีดวัคซีนในยุโรปไปราว 25 ล้านคน

…สำหรับสถานการณ์ของไทยเรา…ไวรัสสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์จากสหราชอาณาจักร B.1.1.7 นั้นเป็นหนึ่งในสามสายพันธุ์หลักที่ทั่วโลกคาดการณ์ไว้แล้วว่าจะก่อให้เกิดการระบาดซ้ำในประเทศต่างๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นมาระบาดในเมืองไทย เนื่องจากตั้งแต่ระลอกสองตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐไม่สามารถดำเนินการตัดวงจรการระบาดได้ การเข้ามาของเชื้อนั้นมาได้หลากหลายทาง ไม่ใช่แค่มาทางเครื่องบินและผ่านสถานกักตัวของรัฐเท่านั้น แต่การลักลอบเข้ามาตามช่องทางต่างๆ ย่อมมีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้เรารู้จักเชื้อให้ดี จะได้รับมือมันให้ถูกต้อง สายพันธุ์สหราชอาณาจักรนี้จะแพร่เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม 70% และรุนแรงขึ้น 30% นั่นแปลว่าการระบาดจะเร็วขึ้นกว่าเดิม และมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตได้มากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ต้องทราบด้วยว่า สายพันธุ์สหราชอาณาจักรรวมถึงอีกสองสายพันธุ์คือแอฟริกาใต้ (B.1.351) และบราซิล (P.1) นั้นที่ทำให้กังวลกันมากเพราะนอกจากแพร่เร็ว รุนแรงขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มจะดื้อต่อการรักษาด้วย convalescent plasma และดื้อต่อวัคซีนด้วย

หากดูในตารางจะพบว่าสรรพคุณของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อนั้น มีวัคซีนคือ Pfizer/Biontech, Moderna, J&J ที่มีสรรพคุณนี้ราว 70% ในขณะที่สรรพคุณของวัคซีนในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการ ก็มีแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ให้ดูในตาราง ส่วนหากเจาะลึกตามสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ วัคซีนที่ไทยใช้นั้นคือ Astrazeneca จะได้ผลราว 74% แต่ Sinovac นั้นยังไม่มีข้อมูลวิจัยที่ชัดเจนถึงผลในชีวิตจริง

FB_Thira-Woratanarat

ย้ำเตือนเราทุกคนอีกครั้งว่า วัคซีนที่เรามีนั้น สรรพคุณจำกัด ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ฉีดแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้และนำเชื้อไปแพร่ให้คนรักคนใกล้ชิดและคนอื่นในสังคมได้ ใครจะไปรับวัคซีนมาแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แพร่ได้ ป่วยได้ แม้จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตหรือป่วยรุนแรงก็ตาม ดังนั้นจึงต้องไม่หลงไปกับมายาคติว่าฉีดแล้วจะใช้ชีวิตเสรีได้ ยังต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด

การระบาดตอนนี้วิกฤติรุนแรง กระจายไปทั่ว ไม่มีทางจะแบ่งโซนสีได้ครับ เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ต้องยอมรับว่า เอาไม่อยู่ คุมไม่อยู่ และการดำเนินนโยบายและมาตรการที่ผ่านมานั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รัฐควรลดทิฐิ เร่งทำทุกวิถีทางที่จะนำเข้าวัคซีนที่มีสรรพคุณสูงและปลอดภัยมาให้ประชาชน โดยปลดล็อคกฎระเบียบและร่วมลงทุนกับภาคส่วนอื่นในสังคม รัฐควรขยายศักยภาพของระบบการตรวจโควิดให้มากขึ้น และจำเป็นต้องเพียงพอสำหรับทุกคน ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยควรตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อยให้สามารถตรวจได้อย่างน้อย 2 ครั้งต่อคนต่อปี การระบาดระลอกสามนั้นมาแน่นอนครับ แต่ภาพที่เห็นตอนนี้ ยังขอยืนยันว่ายังไม่ใช่ของจริง

สำหรับประชาชน เรียนย้ำว่า เมษายนนี้ เป็นเมษายนที่ต่างจากปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะนโยบายและมาตรการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นต่างจากเดิมมาก และเปิดประตูความเสี่ยงทุกบานพร้อมกัน สิ่งที่เราจะทำได้คือ……อยู่บ้านให้มากๆ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น……ทำงาน รีบไป รีบกลับ เลี่ยงการเดินทางช่วงเวลาที่แออัดหากทำได้ แต่หากทำไม่ได้ ก็ป้องกันตัวให้เต็มที่……ในที่ทำงาน ควรใส่หน้ากากเสมอ แม้จะพบกับเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม……work from home เต็มรูปแบบ……งดการกินดื่มในร้านอาหาร คาเฟ่ ซื้อกลับจะปลอดภัยที่สุด……งดตะลอนท่องเที่ยว ไม่ควรหลงไปกับคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่หายนะการระบาด…

…ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ และหากเป็นการค้าขายสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ควรให้บริการแบบ delivery หรือสั่งกลับบ้านเท่านั้น……วางแผนชีวิตให้ดี เพราะการระบาดซ้ำครั้งนี้ ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอาจมากกว่าปีที่แล้วครับ ด้วยรักและห่วงใยเสมอ

อ้างอิง
AstraZeneca’s COVID-19 vaccine: EMA finds possible link to very rare cases of unusual blood clots with low blood platelets. News. 7 April 2021.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img