“สธ.-มท.-ตร-ป.ป.ส.” ตั้งโต๊ะแถลงใหญ่วันนี้ แจงมาตรการรับมือหลังประกาศครอบครองยาบ้า 5 เม็ด เป็นผู้เสพ บังคับใช้
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.67 ภายหลัง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ลงนามโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ซึ่งมียาเสพติดประเภท 1 ประเภท 2 และประเภท 5 วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยหนึ่งในนั้นมีการกำหนดปริมาณยาบ้าไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด หรือไม่เกิน 500 มิลลิกรัมด้วย ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกหมายแถลงข่าวถึงมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว นำโดยนพ.ชลน่าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในเวลา 16.00 น. วันนี้ (12 ก.พ.) ทั้งนี้ในช่วงเช้า นพ.ชลน่าน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามภารกิจการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีบุตรอย่างมีคุณภาพ จากนั้นจะบินด่วนเพื่อกลับมาแถลงข่าวดังกล่าว
สำหรับ กฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ในรายละเอียด ระบุถึงรายการยาเสพติด หลายประเภท ดังนี้ ยาเสพติดประเภท 1 ประกอบด้วย แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม เอ็น-เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี (N3ethyl MDA หรือ MDE) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม เฮโรอีน มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ ((+)-lysergide) หรือ แอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี-25 (LSD 25) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลลิกรัม เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ methamfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นเกล็ดผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน (methylenedioxyamphetamine หรือ tenamfetamine หรือ MDA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม และ 3,4-เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (3,4-methylenedioxymethamphetamine หรือ methylenedioxymethamfetamine หรือ ecstasy หรือ MDMA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประกอบด้วย โคคาอีน (cocaine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม
ส่วนยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ประกอบด้วย พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol หรือ THC) เป็นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 30,000 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 30 มิลลิลิตร
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ประกอบด้วยฟลูอัลพราโซแลม (flualprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 650 มิลลิกรัม ฟีนาซีแพม (phenazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประกอบด้วย อัลพราโซแลม (alprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม, คีตามีน (ketamine) ที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตร หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม ในลักษณะที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม , มิดาโซแลม (midazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม, ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม, ไนทราซีแพม (nitrazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสทุธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม, เฟนเทอร์มีน (phentermine) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม.