วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightม.เกษตรฯพบ“กุ้งเต้น” (amphipod) ชนิดใหม่ของโลก
- Advertisment -spot_imgspot_img

ม.เกษตรฯพบ“กุ้งเต้น” (amphipod) ชนิดใหม่ของโลก

ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบ “กุ้งเต้น” ชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อ’’กุ้งเต้นคงเสมา’’เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงอ.ดร.เมษยะมาศ  คงเสมา

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 64 เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า  ทีมนักวิจัยภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ค้นพบ  “กุ้งเต้น” ชนิดใหม่ของโลก บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริและสระน้ำโรงอาหารกลาง (บาร์ใหม่) ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และยังไม่มีรายงานในบริเวณอื่นในโลก

กุ้งเต้นคงเสมา (Floresorchestia kongsemae) ชนิดใหม่ของโลก เป็นสัตว์ในซับไฟลัมครัสเตเชียน คือกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า  ลำตัวแบนข้าง มีขาเดิน 7 คู่ ต่างจากกุ้งที่เรารู้จักกันที่มีขาเดิน 5 คู่ โดยปกติจะพบอาศัยในทะเลและน้ำจืด กุ้งเต้นที่พบอยู่ในวงศ์ Talitridae เป็น กลุ่มที่วิวัฒนาการปรับตัวให้มาอาศัยอยู่บนบกได้ แต่ยังมีลักษณะความเป็นสัตว์น้ำอยู่ คือหายใจด้วยเหงือก จึงมักพบอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะที่มีการรบกวนของหน้าดินน้อย

โดยปกติ กุ้งเต้น จะกินซากใบไม้ที่อยู่ริมฝั่งและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร การกัดกินอาหารของกุ้งเต้น   ดังกล่าว จะช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายโดยแบคทีเรียและช่วยหมุนเวียนสารอาหาร นอกจากนี้ กุ้งเต้นยังเป็นอาหารของนกที่พบหากินบริเวณริมน้ำ อีกด้วย

ลักษณะสำคัญของ กุ้งเต้นคงเสมา (Floresorchestia kongsemae) ซึ่งเป็นกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกนั้น บริเวณปากส่วนฟัน mandible lacinia mobilis ด้านซ้ายมีฟัน 5 ซี่ ก้ามคู่ที่ 2 มีส่วนฝ่ามือยาว 33% และมีหนามที่ปลายหางส่วน telson ข้างละ 4 หนาม

กุ้งเต้นคงเสมาถูกค้นพบโดยทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกของภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ นายอโณทัย สุขล้อม อ.ดร.พัชร ดนัยสวัสดิ์ และอ.ดร. กรอร วงษ์กำแหง

โดยตั้งชื่อกุ้งเต้นชนิดใหม่ของโลกว่า กุ้งเต้นคงเสมา เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ อ.ดร.เมษยะมาศ  คงเสมา อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีส่วนช่วยในการเก็บตัวอย่างและวางแนวทางการศึกษาชีววิทยาของกุ้งเต้นชนิดใหม่ตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2017 และอาจารย์ได้เสียชีวิตไปเมื่อเดือนมกราคม 2564  ทีมวิจัยจึงได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติและเพื่อเป็นการระลึกถึง อ.ดร.เมษยะมาศ คงเสมา ที่ให้ความช่วยเหลือในงานวิจัย และคุณูปการที่ทำให้กับภาควิชาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสมอมา

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img