“ประธานกมธ.อุตฯ” เผยเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องแจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงาน “มาบตาพุด-อยุธยา” พร้อมหนุนรัฐเร่งออกใบประกอบรง.4 ชี้หากช้าส่งผลต่อเศรษฐกิจ
วันที่ 15 พ.ค.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.ฯว่า ที่ประชุมได้เชิญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ประกอบการว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับการขนย้ายกากแคดเมียม ส่วนความคืบหน้าในการขนย้ายกากแคดมียมนั้นทางกมธ.ฯจะเป็นการติดตามว่ามีการขนย้ายกากแคดเมียมแล้วเสร็จไปแล้วกี่ตัน โดยเบื้องต้นทราบว่าทางกรุงเทพฯขนย้ายเสร็จแล้ว ส่วนจ.สมุทรสาคร และชลบุรี จะให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงในส่วนนี้
เมิ่อถามเรื่องใบอนุญาตโรงงานที่ยังค้างการพิจารณาอยู่หลาย 100 รายโดยต้องเร่งออกใบอนุญาตตามคำสั่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั้น นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนนี้ต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงถึงปัญหาในการออกใบอนุญาตโรงงาน โดยเบื้องต้นพบว่าเอกสารไม่ครบถ้วน และมีการส่งกลับไปให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดรวบรวมเอกสารเพิ่ม คาดว่าขณะนี้จะส่งกลับมาที่กรมฯแล้ว ซึ่งเมื่อเอกสารครบแล้วก็จะสามารถอนุญาตออกใบ รง.4 ได้ ซึ่งในส่วนของกมธ.ฯได้ให้ข้อสังเกตไปว่าการออกอนุญาตตามที่นายกฯเร่งรัดนั้นเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพราะประเทศต้องตอบรับการลงทุนจากนักลงทุน ดังนั้นใบอนุญาตออกช้าย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ดังนั้นสิ่งที่นายกฯสั่งจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
“กมธ.ฯมองว่านอกจากออกใบอนุญาตแล้วต้องมีการกำกับให้เป็นไปตามกฏหมายและปฏิบัติตามระเบียบเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เมื่อได้ใบอนุญาตแล้วขาดการกำกับดูแลจะทำให้ผู้ประกอบการละเมิดกฎหมายส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม”นายอัครเดช กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีไฟไหม้โรงงานหลายแห่งที่สามารถบ่งชี้ว่ามาจากการวางเพลิง หรืออาจเป็นอุบัติเหตุ นายอัครเดช กล่าวว่า ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่เกิดจากอุบัติเหตุนั้นเกิดจากการที่ภาวะอากาศร้อนจัด เมื่อมีความร้อนเกิดขึ้นอาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้งเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการควบคุมเพลิงต้องรวดเร็ว ในวันนี้ทาง กมธ.ฯจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวกับการควบคุมเพลิง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)เข้าชี้แจงว่าเวลาเกิดเพลิงไหม้มีแผนในการเผชิญเหตุและการควบคุมเพลิงเป็นไปอย่างไร เพื่อดูความพร้อมในการควบคุมเพลิง
นายอัครเดช กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการวางเพลิงเพื่อเผาทำลายหลักฐาน เช่นกรณีไฟไหม้ที่จ.ระยอง และพระนครศรีอยุธยา เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าจะต้องเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดให้ได้ ซึ่งทางกมธ.ฯสนับสนุนแนวคิดของรมว.อุตสาหกรรม โดยกระบวนการติดตามผู้กระทำความผิดทั้งการสืบสวนและสอบสวน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ
เมื่อถามว่าถึงเวลาจำเป็นแล้วหรือไม่ที่จะต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการแจ้งเตือนประชาชน นายอัครเดชกล่าวว่า ในส่วนของการเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่ว่าจะในกรณีการวางเพลิง หรืออุบัติเหตุ สิ่งสำคัญที่สุดคือแผนเผชิญเหตุ การสื่อสารจากภาครัฐไปยังประชาชนเป็นสิ่งสำคัญจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริงและได้รับข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมครั้งนี้ด้วย