เตือนประชาชนปลายปีนี้ปริมาณฝนมาก พายุเข้าไทย 2 ลูก เสวนาชี้ชะตาสถานการณ์น้ำปี 67 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศแปรปรวน เกิดปรากฏการณ์ลานีญ่า เจอปริมาณน้ำฝนและพายุเข้าไทยมากขึ้น คาด 35 เขื่อนใหญ่รับน้ำได้กว่าหมื่นล้าน ลบ.ม. โดยทางกรมชลประทานได้เตรียม 10 มาตรการไว้รับมือแล้ว ย้ำไม่ท่วมซ้ำรอยปี 54
วันที่ 18 พ.ค.67 ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด สมาคมนักอุทกวิทยาไทย ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า วิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีเวทีเสวนา เรื่อง “ชี้ชะตาสถานการณ์ประเทศไทย 2024 ในภาวะภูมิอากาศแปรปรวน” โดยนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเปิดงานว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยขึ้นอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก และประเทศยังได้รับอิทธิพลโดยตรงจากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ่” กำลังแรง ตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมากผิดปกติ แต่ขณะนี้ปรากฎการณ์ดังกล่าว ได้อ่อนกำลังลง และคาดว่าจะเข้าสู่สภาวะ “ลานีญ่า” ในเดือนมิ.ย.นี้ ต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดฤดูฝนในปี 2567 และมีโอกาสเกิดฝนตกมากกว่าค่าปกติ รวมทั้งมีโอกาสสูงมาก ที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน เข้ามาในระเทศไทยตั้งแต่เดือนส.ค.-ต.ค. และอาจทำให้ฤดูฝนในปีนี้ เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นได้ ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำภายในประเทศอย่างเหมาะสม และลดภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นมาด้วย
ทางด้านนายสัญชัย เกตุวรชัย นายกสมาคมนักอุทกวิทยาไทย กล่าวว่า คาดปริมาณน้ำฝนในเกณฑ์เฉลี่ย จากปกติ 1,500 มม. จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 มม. ซึ่งการเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 ยังเป็นฝันร้ายให้ประชาชนอยู่ ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านน้ำ จะต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้าน และโครงการต่างๆ ในการป้องอุทกภัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 54 ควรมีการบอกให้ชาวบ้านทราบ ว่ามีความคืบหน้าไปเท่าไหร่แล้ว เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดอุทกภัยซ้ำรอยเมื่อปี 54 มีพื้นที่กักเก็บน้ำ หน่วงน้ำ ตัดยอดน้ำ และระบายลงสู่อ่าวไทย ได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อจะได้ให้ประชาชนไม่ต้องนอนผวา โดยเฉพาะคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ กทม.
ขณะที่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีมานี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ มีการประสานร่วมมือกันมากขึ้น จึงมั่นใจว่า จะไม่เกินน้ำท่วมเท่ากับปี 54 เพราะได้เตรียมพื้นที่หน่วงน้ำไว้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยใช้พื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ สามารถหน่วงน้ำไว้ได้ 200 ล้าน ลบ.ม. และยังมีพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ในจ.นครสวรรค์ และพื้นที่ชุ่มน้ำ อีก 300 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งหมดเป็น 500 ล้าน ลบ.ม. ขอให้ประชาชนอย่างตื่นตระหนกว่า อุทกภัยจะต้องเกิดในวงรอบ 20 ปี ไม่ต้องวิตกกังวล อีกทั้งน้ำในเขื่อนขณะนี้ ยังน้อยกว่าปี 54 อย่างมาก เขื่อนจึงสามารถรองรับน้ำได้อีกว่า 25,000 ล้าน ลบ.ม. แม้จะคาดว่าปีนี้จะมีพายุจรมากกว่าปกติก็ตาม แต่อาจจะไม่เข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด อีกทั้งเครื่องมือในการตรวจสอบมีความแม่นยำมากขึ้น จึงสามารถเตือนประชาชนล่วงหน้าได้อย่างน้อย 3-7 วัน
นายสมชาย ใบม่วง ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า คาดการณ์ฝนปีนี้จะมีปริมาณใกล้เคียงกับฝนปี 59 แต่จะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี รวมทั้งคาดว่าจะมีพายุเข้าประเทศไทยโดยตรง 2 ลูก และเฉียดๆ อีก 10 ลูก โดยในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. จะมีฝนตกมาก ซึ่งประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ทั้งจากฝั่งอันดามันและอ่าวไทย รวมถึงแนวร่องฝนที่จะร่นลงมาจากประเทศจีน โดยจะทำให้มีฝนตกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและตรียมรับมือ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุทกใหญ่ในบางพื้นที่
ด้านนายธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำอุทกวิทยากรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดวันที่ 1 พ.ย.67 จะมีน้ำในเขื่อนหลัก 35 เขื่อนทั่วประเทศ รับน้ำฝนไว้ได้กว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นข่าวดีของชาวนา เพราะจะมีน้ำส่งให้ทำนาปรังได้แน่นอน เพราะกรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำแบบต่อเนื่อง แล้งต่อฝน และบริหาร ฝนต่อแล้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลให้โจทย์มาว่า ให้กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำแบบ 2 ปีต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าการเพาะปลูกจะไม่ได้รับความเสียหาย และจะไม่เกิดผลกระทบกับผู้ใช้น้ำด้วย โดยได้เตรียม 10 มาตรการในการรับมือฤดูฝนไว้แล้ว อาทิ คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงล่วงหน้า เตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร อาคารบังคับน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ บุคลคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลาก ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย