“คณบดีศิริราช” เผยองค์การการอนามัยโลกชี้วิกฤติโลกรอบใหม่ติดเชื้อ-เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ย้ำต้องฉีดวีคซีนให้ได้อย่างน้อย 25% ของคนในประเทศ เฝ้าระวัง 4 ความเสี่ยงคือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และช่วงเวลาเสี่ยง
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า วันนี้องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงอุบัติการณ์ติดเชื้อและการเสียชีวิต พบสัญญาณการติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ อัตราการเสียชีวิตต่อเนื่อง 5 สัปดาห์
ทำให้ทั่วโลก ขณะนี้เสียชีวิตสะสม 3 ล้านกว่าคน แต่จะเห็นว่าการเสียชีวิตใน 1 ล้านคนแรกนั้นใช้เวลา 9 เดือน อีก 1 ล้านที่ 2 ใช้เวลา 4 เดือน แต่ใน 1 ล้านที่ 3 ใช้เวลาเพียง 3 เดือน โดยเสียชีวิตเร็วขึ้น และอายุน้อยลง ไนไทยพบติดเชื้อเสียชีวิตน้อยลง 20-39 ปี เชื่อว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการที่ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีน และอยู่กับบ้าน ขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวยังออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและติดเชื้อ แต่ตอนนี้ไม่ได้ติดเชื้ออย่างเดียว แต่เสียชีวิตด้วย
องค์การอนามัยโลกยังเตือนว่า วัคซีนเป็นอาวุธที่ดีในการต่อสู้โควิด วันนี้มีหลายชนิด มี 8 ตัว ที่ใช้มากสุดคือแอสตร้าเซนเนกร้า ใช้ใน 91 ประเทศ, ไฟเซอร์ ใช้ใน 83 ประเทศ, สปุตนิวี ใช้ใน 62 ประเทศ, โมเดอร์นา ใช้ใน 46 ประเทศ, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้ใน 40 ประเทศ, ซิโนฟาร์ม ใช้ใน 35 ประเทศ, ซิโนแวค ใช้ใน 22 ประเทศ และบารัตไบโอเทค ใช้ใน 6 ประเทศ ประสิทธิภาพแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าวัคซีนตัวไหนก็ขอให้ฉีดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของไวรัส โดยต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 25% ซึ่งหลายๆ ประเทศทยอยฉีด โดยทั่วโลกฉีดแล้วกว่า 1,009 ล้านโดส
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เดิมเราเชื่อว่า สายพันธุ์ B.1.1.7 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม พบว่ามีการแพร่กระจายเร็วขึ้นเดิม แต่ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้นพบว่าไม่มีความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดจากสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้ มีการระบาดในประเทศไทยแล้ว ซึ่งในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็มีจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างเยอะ
ส่วน สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B .1.351 ซึ่งแพร่พันธุ์ได้เร็วกว่าเดิมข้อมูลล่าสุด แต่ไม่ได้รุนแรงกว่าเดิม วัคซีนของแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ ยังครอบคลุมสายพันธุ์นี้ได้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างดี ขณะที่ สายพันธุ์บราซิล P.1 ซึ่งพบในญี่ปุ่นด้วยนั้น พบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกายังมีอีก พันธุ์แคลิฟอร์เนีย B.1427 และ B.1429 อีกสายพันธุ์หนึ่งที่คนสนใจกันคือ สายพันธุ์อินเดีย B.1.617 ยังมีรายละเอียดน้อย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบแล้ว 1 ตัวที่กำลังระบาดในไทยขณะนี้คือ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ซึ่งรอบนี้ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลเฉพาะของรพ.ศิริราช ขณะนี้มีผู้ป่วย 1 ใน 4 ที่เข้ามาเป็นผู้ที่มีอาการหนักปอดอักเสบที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และทุกรอบที่มีการระบาด รพ.ศิริราชไม่เคยมีผู้เสียชีวิต แต่รอบนี้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย
“การจัดการโควิด-19 มี 3 ส่วนคือ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ คือการจัดการกับผู้ป่วยที่นอนรพ. เพื่อเป้าหมายในการลดการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการหายกลับบ้าน และ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือทำอย่างไรให้คนติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลง ถ้ามีคนติดเชื้อเยอะๆ แล้วทะลักเข้ามาในรพ.ยุทธศาสตร์ปลายน้ำก็ไม่สำเร็จ วันนี้เรากำลังจะเริ่มเจอเหตุการณ์แบบนั้น เพราะเรามีจำนวนผู้ป่วยเยอะขึ้น ดังนั้นคนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันลดจำนวนคนป่วยลง และการกระทำเช่นนี้ได้จะต้องมีจิตสำนึก มีวินัย มีความรับผิดชอบ'”
คณบดีฯ ศิริราช กล่าวว่า ขอความกรุณาว่าจากนี้เป็นต้นไปต้องช่วยกัน ถ้าต้นน้ำสำเร็จมากเท่าไหร่ ปลายน้ำก็มีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้นสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อถึงคิวก็ขอให้ไปรับวัคซีนด้วยเพราะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยง 4 ข้อที่ไม่ควรให้เกิดพร้อมกันคือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และช่วงเวลาเสี่ยง อย่างการหยุดยาวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำแล้วว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง ตัวเลขผู้ติดเชื้อวันละ 2 พันกว่ารายเป็นผลมาจากช่วงนี้ ดังนั้นขอให้เป็นบทเรียนว่าอย่าทำซ้ำ และขอความกรุณาอย่าโฆษณาหลอกหลวงคนไทย เลิกทำร้ายกันเอง และหยุดแอบอ้างชื่อบุคคลมีชื่อเสียงไปหลอกลวงผู้อื่น