“รมว.เกษตรฯ” รับปี 67 นี้มีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน สั่งทำ “แผนที่ทางน้ำ” เพื่อชี้เป้าจุดเสี่ยง-จุดน้ำท่วมซ้ำซาก และให้สำนักชลประทาน 17 แห่ง ตรวจสอบอาคารบังคับน้ำและเครื่องจักรกลให้พร้อมใช้งาน การันตีพายุเข้า 2 ลูกเดือนก.ค.-ก.ย. “เอาอยู่”
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงานฉลองครอบรอบ 122 ปี กรมชลประทาน ว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้ น่าจะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำ คือการให้กรมชลประทานจัดทำ “แผนที่ทางน้ำ” เพื่อดูเส้นทางการไหลของน้ำ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปสู่จังหวัด จนไปถึงลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเตรียมแผนรับมือในฤดูน้ำหลาก
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย 2 ลูก ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ ฉะนั้นจึงสั่งการให้สำนักชลประทานทั่วประเทศ ทั้ง 17 แห่ง เร่งทำแผนผังน้ำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อชี้เป้าจุดเสี่ยง พื้นที่น้ำท่วม โดยเฉพาะจุดเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จะได้แก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ทันท่วงที และจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ และตนจะลงพื้นที่จุดน้ำท่วมซ้ำซากให้บ่อยขึ้น เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาแล้งจัด ทำให้อาคารบังคับน้ำต่างๆ อาจเกิดปัญหาเมื่อเจอฝนตกมาก และเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก ฉะนั้นต้องให้สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ได้มาตราฐาน จุดไหนที่เป็นปัญหา ต้องเร่งซ่อมแซมแก้ไข ส่วนเครื่องจักรกลก็ต้องต้องพร้อมใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเครื่องสูบน้ำเสีย ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดปทุมธานี
“ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 แม้จะมีพายุเข้า 2 ลูก ยืนยันว่าผมเอาอยู่ เพราะได้เร่งโครงการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยไว้แล้ว และแต่ละโครงการต่างมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยแล้ว ได้ส้่งการให้เร่งเดินหน้าทุกโครงการอย่างเต็มที่”ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
นอกจากนี้ ในระยะเวลา 6 เดือนจากนี้ต่อไป ได้กำชับให้กรมชลประทานรวบรวมโครงการทั้งหมด ทั้งการแก้ไขภัยแล้ง และแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อจะนำมาบรรจุงบประมาณในปี 2568 ต่อไป เพราะถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นต้องตั้งงบผูกพันไว้ เพื่อไม่ให้โครงการสะดุด เพราะตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กรมชลประทานค้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้มากกว่า 49.5 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้ประมาณ 93,000 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเป้าหมาย เพิ่มรายได้ภาคเกษตรขึ้นเป็น 3 เท่าใน 4 ปี