“หมอธีระ” ตอกย้ำ อัตราการตายจากโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ แนะอย่าหลงกับภาพลวงตาที่วาดให้เห็นว่า จำนวนคนตายลดลงกว่าหลายปีก่อน แล้วบอกว่าไวรัสตัวนี้ไม่น่ากลัว แนะป้องกันตัวให้ดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่อับลม มีคนมาก รักษาความสะอาด ไม่แชร์ของกินของใช้กับคนอื่นนอกบ้าน
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.67 ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า “พฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนั้น มีความสำคัญ
ย้ำว่า อัตราเสียชีวิตของโควิด-19 นั้น สูงกว่าไข้หวัดใหญ่
ที่พยายามเผยแพร่กันว่าจำนวนตายลดลงกว่าหลายปีก่อน แล้วพยายามโยงว่า ไวรัสนี้ไม่น่ากลัวแล้วนั้น โดยแท้จริงแล้วมาจากหลายปัจจัย ไม่ใช่ไวรัสรุนแรงลดลงแต่เพียงอย่างเดียว
แต่มาจากการเข้าถึงยารักษาได้มากขึ้น และการมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและประวัติเคยติดเชื้อมาก่อน
อย่าหลงกับภาพลวงตาที่นำเสนอเพียงภาพที่ต้องการวาดให้เห็น ให้เชื่อ ให้หลง ปล่อยตัวปล่อยใจ ล่องลอยไปตามลม
หลายหน่วยงานทั่วโลกล้วนออกมาเตือนว่า โควิด-19 นั้น มีแนวโน้มระบาดได้ตลอดทั้งปี เพราะการระบาดหลายปีที่ผ่านมา ชี้ไปในทิศทางเช่นนั้น อันเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่รวดเร็วกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่า และปัจจัยด้านพฤติกรรมการป้องกันตัวและภูมิคุ้มกันที่ลดลง
ยังไม่เป็นไปตามฤดูกาล และยังไม่สามารถทำนายคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของไวรัสได้อย่างแม่นยำ
เพราะสุดท้ายแล้ว ความเสี่ยงของเราแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเราเอง
พอติด ก็เสี่ยงป่วย รุนแรง ตาย และภาวะผิดปกติระยะยาวตามมา
ยิ่งไปกว่านั้น ติดแล้วไม่ใช่ป่วยแค่ตัวเรา แต่สร้างความเดือดร้อน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อคนที่เรารัก คนใกล้ชิดทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และในสังคมต่อกันไปแบบโดมิโน่
ข้อปฏิบัติที่ควรทำให้เป็นกิจวัตรคือ ไม่คลุกคลีกับคนที่มีอาการไม่สบาย (symptom awareness) และป้องกันตัวให้ดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่อับลม มีคนมาก รักษาความสะอาด ไม่แชร์ของกินของใช้กับคนอื่นนอกบ้าน”
เวลาต่อมา ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังโพสต์อีกข้อความว่า…“เตือนดังๆ…ปัจจัยหลักที่กำหนดลักษณะการระบาดในปัจจุบันคือ พฤติกรรมของประชาชนในสังคม
พอติดและป่วยแล้ว ย่อมเหลือเพียงการเข้าถึงการตรวจและดูแลรักษา และจัดการป้องกันคนรอบตัว
หากพิจารณาให้ดี สถานการณ์ใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเป็นไปแบบอิสระ
ประตูพฤติกรรมเสี่ยงเปิดอ้าซ่า…
ประตูการเข้าถึงการตรวจ และดูแลรักษาเป็นไปตามทางที่มีของแต่ละคน…เปิดแคบกว้างต่างกันไป
ประตูการจัดการป้องกันคนรอบตัว…บางคนหยุดงานได้หรือไม่ได้ แยกตัวได้มากได้น้อยหรือไม่ได้ บางคนต้องอยู่อาศัยรวมกับสมาชิกในบ้านที่มีความหลากหลายในการประพฤติปฏิบัติตัว
จึงมีความยากลำบาก…
การจัดการตนเอง ใส่ใจให้ดีสม่ำเสมอ ก็ลดความเสี่ยงลงสำหรับตัวเราและครอบครัว
เสี่ยงมาก โอกาสป่วยสูงขึ้นตามลำดับ และผลลัพธ์ที่จะเผชิญก็จะขึ้นกับประตูสองบานหลังที่เรามี
ผลกระทบ หรือความสูญเสีย…เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับไปไม่ได้”