“นายกฯลุงตู่” มอบอำนาจ “ผวจ.” พิจารณาคลายล็อกภาคธุรกิจใน “จังหวัดพื้นที่สีแดง” หากเห็นว่าควบคุมสถานการณ์โควิดได้แล้ว เผยครม.เห็นชอบ 4.5 หมื่นล้านบาท เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก พร้อมอัดเงิน “เราชนะ-ม33เรารักกัน” อีกคนละ 2 พันบาท ถึง 30 มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า สิ่งที่ตนและรัฐบาลพยายามคิดวางแผนทุกวัน ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะการปิดสถานที่ต่างๆ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดได้ ปิดกั้นการลักลอบเข้าประเทศอย่างสูงสุด และประเมินสถานการณ์วันต่อวัน หากจังหวัดใดโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสีแดง ที่มีการปิดสถานที่และข้อจำกัดต่างๆ และมีสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว ให้มีการพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขต่อไป เพื่อให้ประชาชนได้กลับเข้าสู่การค้าขายและการเดินทางท่องเที่ยวได้เช่นเดิม โดยพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจควบคู่กันไป
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงมาตรการทางเศรษฐกิจว่า ที่ประชุมครม. มีการพิจารณาโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 45,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งจะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์ของโควิดนั้นบรรเทาลง โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เป็นกลไกสำคัญภายใต้การติดตามของรองนายกรัฐมนตรีทุกคน
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ครม. ยังมีมติเห็นชอบการเพิ่มเงินสนับสนุนในโครงการเราชนะอีกคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 33.5 ล้านคน รวมทั้งการเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนผ่านโครงการ ม 33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท 2 สัปดาห์ โดยจะขยายโครงการออกไปถึงเดือนมิ.ย. ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 8 ล้านคน ทั้งหมดคือการทำงานอย่างเต็มที่ของตนและผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นประโยชน์และพิสูจน์ได้ตามหลักการของการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องคิดร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตนไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่านำข้อมูลมาสังเคราะห์ หาปัญหาและอุปสรรคให้เจอ ว่าตรงไหน นายกรัฐมนตรีจะสามารถปลดล็อคให้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า นายกฯจะเอาอำนาจเหล่านั้นมาใช้ด้วยตัวเอง เพราะตนรู้ไม่เท่าหมอ ซึ่งทำงานเช่นนี้มาโดยตลอด โดย ศบค. บูรณาการร่วมกัน ทำงานต่อเนื่องทุกวันไม่มีวันหยุด ในการวางแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด และบรรเทาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัญหาปากท้องของประชาชน และต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม จะต้องเตรียมว่าพื้นที่จังหวัดใดบ้างที่มีความพร้อม