ดีอี เตือนภัย “โจรออนไลน์” สร้างเพจปลอม “ลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ ให้กู้ 50,000 บาท คืน 1,083 บาทต่อเดือน ผ่าน TikTok nongbdwo314” หวั่น ปชช.สูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.67 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ ให้กู้ 50,000 บาท คืน 1,083 บาทต่อเดือน ผ่าน TikTok nongbdwo314” รองลงมาคือเรื่อง “ผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกเงินทางออนไลน์ ลงทะเบียนเพื่อรับเงินคืน ผ่านเพจ Development of rice fields” โดยขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ-แชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสูญเสียทั้งข้อมูลส่วนบุคคล และทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดีอี กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 826,945 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 733 ข้อความ
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 701 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ ช่องทาง Website จำนวน 2 ข้อความ และ Facebook จำนวน 4 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 264 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 83 เรื่อง โดยในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ ให้กู้ 50,000 บาท คืน 1,083 บาทต่อเดือน ผ่าน TikTok nongbdwo314
อันดับที่ 2 : เรื่อง ผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกเงินทางออนไลน์ ลงทะเบียนเพื่อรับเงินคืน ผ่านเพจ Development of rice fields
อันดับที่ 3 : เรื่อง ผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถสอบถามรายละเอียดการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านเพจ กอ รมน ISOC News
อันดับที่ 4 : เรื่อง บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ (จำกัด) มี ป.ต.ท ร่วมถือหุ้น 20% เปิดให้นักลงทุนซื้อหุ้นผ่าน TikTok แล้ว
อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับสมัครคนงานทำงานฝีมือ ค่าแรง 3,500-5,000 บาทต่อสัปดาห์
อันดับที่ 6 : เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเพจ CS Inves เปิดคอร์สสอนเรียนหุ้น
อันดับที่ 7 : เรื่อง เพจ ครูกร ที่ปรึกษาสอนขับ เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ รับรองโดย กรมการขนส่งทางบก
อันดับที่ 8 : เรื่อง เปิดขั้นตอนรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช็กสิทธิคุ้มครองเพื่อรับคืนค่าเสียหาย สอบถามได้ที่เพจ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Crime Suppression Cente
อันดับที่ 9 : เรื่อง โฆษณาชวนลงทุนตามแผนเทรดหุ้นรายวัน ดูแลผ่านไลน์โดยผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2
อันดับที่ 10 : เรื่อง เพจ Areeya เปิดรับทำใบขับขี่ออนไลน์ ในการควบคุมของกรมการขนส่งทางบก
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานด้านการลงทุนที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการเปิดช่องทางให้ลงทะเบียนกู้ยืมเงิน หรือช่องทางเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรมออนไลน์ และการชวนลงทุน ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความสับสน ทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ลงทะเบียนสินเชื่อล้างหนี้นอกระบบ ให้กู้ 50,000 บาท คืน 1,083 บาทต่อเดือน ผ่าน TikTok nongbdwo314” กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับธนาคารกรุงไทย กระทรวงการคลัง พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยบัญชี TikTok ชื่อ nongbdwo314 ไม่ใช่บัญชีของธนาคารกรุงไทย และธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดังกล่าวและช่องทางออนไลน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนควรระมัดระวังในการกรอกข้อมูลและไม่ควรกดลิงก์แปลกน่าสงสัยที่ส่งโดยไม่ทราบที่มาชัดเจน ซึ่งประชาชนที่สนใจรับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารกรุงไทย สามารถติดตามได้ที่ www.krungthai.com และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ Krungthai Contact Center 02-111-1111 หรือแจ้งผ่าน Facebook : Krungthai Care
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
| Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com