กองทัพเรือ ทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องหมายนักทำลายใต้น้ำจู่โจม แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสที่กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงเป็นอาจารย์พิเศษ ทรงบรรยายหลักสูตร “การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย” แก่นักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 4
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.พล.ร.อ. เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า พล.ร.อ. ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ณ กองบังคับการชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธิน ที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน เขาล้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ร่วมด้วยผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Tele Conference : VTC)
สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญคือ กองทัพเรือ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องหมายความสามารถพิเศษ นักทำลายใต้น้ำจู่โจม แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสที่กองทัพเรือ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นอาจารย์พิเศษ ทรงบรรยายหลักสูตร “การดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย” แก่นักเรียนนายเรือชั้นปีที่ 4
อีกทั้ง ทรงนำนักเรียนนายเรือ ชั้นปีที่ 4 ฝึกการดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนนายเรือซึ่งจะเติบโตเป็นนายทหารสัญญาบัตรของกองทัพเรือในอนาคต มีความตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเป็นกำลังหลักในการปลูกฝังให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริให้จัดโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยทรงมีความห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น การอนุรักษ์และการสร้างจิตสำนึกในการ หวงแหนและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไทย
โดยกองทัพเรือ ได้ดำเนินการสนองพระดำริ และบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อจัดทำและดำเนินโครงการ แผนงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองพระดำริของพระองค์ท่านได้อย่างเป็นรูปธรรม ในการรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ท้องทะเลไทยให้มีความยั่งยืนสืบไป