“องค์การอนามัยโลก” ประกาศให้ “อหิวาตกโรค” เป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่” พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก อัตราเสียชีวิตพุ่งสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ
นางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การระบาดของอหิวาตกโรคครั้งนี้ ถือว่าเป็น “ภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่” ที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที รวมถึงการรณรงค์ฉีดวัคซีนและปรับปรุงระบบน้ำและสุขอนามัย
ทั้งนี้ หลังจากมีความคืบหน้าในการควบคุม “อหิวาตกโรค” มานานหลายทศวรรษ แต่ปรากฏว่าล่าสุด จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แม้แต่ในประเทศที่ไม่พบโรคนี้มานานหลายปี
โดยในปี 2022 มี 44 ประเทศรายงานพบผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค เพิ่มขึ้น 25% จากเดิมในปี 2021 ที่พบใน 35 ประเทศ และแนวโน้มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2023 ซึ่งการระบาดเมื่อเร็วๆ นี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนมากขึ้น โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้พุ่งสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ
นางแฮร์รีส ให้สัมภาษณ์กับสำนักขาว “ซีจีทีเอ็น” ของจีนว่า การกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคนี้ เกิดจากทรัพยากรที่มีจำกัด ซึ่งสังเกตได้จากระบบน้ำและระบบสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอในประเทศต่างๆ ซึ่งโรคนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ระดับโลก โดยเมื่อเดือนมกราคม 2566 อนามัยโลกได้จัดประเภทการกลับมาระบาดอีกครั้งของโรคอหิวาตกโรคทั่วโลก ที่พบเห็นมาตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด สำหรับภาวะฉุกเฉิน ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับความขัดแย้ง และระบบน้ำและระบบสุขาภิบาลก็ไม่ดี และขาดวิธีการป้องกันและรักษา
แฮร์ริส กล่าวด้วยว่า แคมเปญฉีดวัคซีนช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้จริง แต่ยังไม่เพียงพอ โดยเธอได้เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่ามีระบบน้ำและระบบสุขาภิบาลที่ปลอดภัยเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อในลำไส้เฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรีย “ไวบริโอ โคเลอแร” (Vibrio Cholerae) ซึ่งแพร่กระจายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระ โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและสุขอนามัยที่เหมาะสม แม้ว่าโรคนี้อาจถึงแก่ชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษา แต่การเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้