วันอาทิตย์, มกราคม 26, 2025
หน้าแรกHighlight“ดร.เอ้”ย้ำแนวคิด 6 ข้อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ! กำจัดต้นกำเนิด-ใช้ก.ม.-ตั้งเป้าลดเมื่อใด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ดร.เอ้”ย้ำแนวคิด 6 ข้อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ! กำจัดต้นกำเนิด-ใช้ก.ม.-ตั้งเป้าลดเมื่อใด

“ดร.เอ้-สุชัชวีร์” ตอกย้ำแนวคิด 6 ข้อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ ให้ PM 2.5 ลดลง หลังเกิดวิกฤตหนัก ยันต้องกำจัดฝุ่นที่เป็น “ต้นกำเนิด” อย่างจริงจัง-บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็งกับผู้กระทำผิด-ใช้ดาวเทียมจับใครเผา-กำหนดเขตมลพิษ-ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษจะลดลง

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.68 ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ฝุ่น PM 2.5 วิกฤตเเล้ว! ผมเคยเสนอ “ครั้งแล้วครั้งเล่า” และขอเสนออีกครั้ง…

“การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 6 ข้อ” ให้มลพิษ PM 2.5 ลดลง คือ

1.ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ข้อมูลและอันตรายของ PM 2.5

วันนี้เราสามารถเช็คค่าฝุ่นเบื้องต้นเพื่อทราบข้อมูล จากแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อตรวจเช็คค่าฝุ่นจากจุดใกล้ตัว ว่าค่าฝุ่นที่แสดงมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรา ทราบค่าฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น ก็ต้องมาจาก “จำนวนจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่มากเพียงพอ” ซึ่งควรมีอย่างน้อย “2,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ” เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบค่าได้อย่างแม่นยำ เเละต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่นในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน

ภาครัฐต้องเเนะนำให้ประชาชน “ป้องกัน” ตัวเองด้วยหน้ากากอย่างจริงจัง ในปัจจุบันหน้าการที่ป้องกันโควิดบางแบบสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้บ้างถึงแม้จะไม่ดีเท่า N95 โดยเมื่อเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ใส่หน้าเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ประมาทไม่ได้เลย ฝุ่น PM 2.5 อันตรายถึงชีวิต แต่ที่เห็น เรายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักเท่าที่ควร

2.กำจัดฝุ่นที่ “ต้นกำเนิด” อย่างจริงจัง

วันนี้เรายังเห็นรถเมล์เก่า รถบรรทุกควันดำ วิ่งเต็มกรุงเทพ อยู่ทุกวัน จริงไหมครับ แสดงว่า เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องฝุ่นพิษเลย

รถควันดำ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องไม่มีในกรุงเทพอีกต่อไป ไม่ใช่ปล่อย PM2.5 ตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ อากาศจะดีขึ้น ไม่มีทาง

“รถบรรทุกควันดำ” เป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก “ไซต์งานก่อสร้าง” ทุกวัน วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเที่ยว  กทม.มีข้อบัญญัติความปลอดภัย ความสะอาด และป้องกันสิ่งแวดล้อมในมือ จัดการได้ทันที ถึงระงับใบอนุญาตก่อสร้างได้ เป็นการแก้ปัญหาถึง “ต้นตอ”

3.กฎหมายต้อง “เข้มเเข็ง จัดการผู้กระทำความผิด”

แน่นอนครับการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เเต่การใช้กฎหมาย ปรับให้เหมาะสมและต้องบังคับให้ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ

ตอนนี้เรากำลังจะมี “กฎหมายอากาศสะอาด” ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล

กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล

กฏหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

กฏหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ “ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม” กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ

กฏหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด

ทั้งหมดนี้ ผู้มีอำนาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาใช้ กฏหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ เเละเขาจริงจังเเละเข้มงวด ใครทำผิดเขาจัดการทันที เเต่ประเทศไทยยังไม่เข้มงวดมากพอ

4.ใช้เทคโนโลยี “มีดาวเทียม รู้ทันที ใครเผา”

เทคโนโลยีดาวเทียว “ไม่โกหก” เมื่อปีก่อน ไทยเราส่ง “ดาวเทียมธีออส 2” ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เวียนมา “สอดส่องดู” พื้นที่ประเทศไทย ใครเผาป่า เผ่าไร่ ตรงจุดไหน ที่แปลงใด รู้ทันที “ใครต้องรับผิดชอบ”

GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ดูแลดาวเทียม ระบุว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส 2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ถือว่า “ความละเอียดสูงมาก” ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตา จะใช้หรือไม่ ก็เท่านั้นเอง

เมื่อเทคโนโลยี “มีแล้ว” เราต้องใช้แก้ปัญหา ให้คุ้มค่า

5.กำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone”

นี่คือ “เป้าหมาย” และ “วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพฯมี “ความหนาแน่นขึ้น” ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง

การประกาศ “เขตมลพิษต่ำ” จะทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่นๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน  รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้สมารถลดมลพิษจากท้องถนนได้

สำหรับ กทม. ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ “Bangkok Low Emission Zone”  นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ

ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?

เพราะเขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก

เพราะพื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ

และเพราะพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น

6.กำหนด “เป้าหมาย” ลดฝุ่นอย่างจริงจัง ต้องชัดเจน

ผมไม่เห็นใครออกมา “ตั้งเป้าหมาย” เลยว่า อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ให้อากาศกรุงเทพกลับมาสะอาดพอ ให้ลูกหลานเราจะหายใจได้อย่างปลอดภัย

เมื่อบ้านเมืองไร้เป้าหมาย สุดท้ายคือ อยู่ไปวันๆ ตายผ่อนส่ง ไม่มีอนาคต จริงไหมครับ ?

เมื่อ PM2.5 คือ อันตราย ตายจริง และขอย้ำ “ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า” หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานคนไทยเลย

ด้วยความห่วงใยมากครับ”

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img