”ชมรมแพทย์ชนบท”เปิดเบื้องหลังการดีลที่ทำให้’’วัคซีนซิโนแวค’’ กลายเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยไปโดยปริยาย
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.64 เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เรื่อง’’ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 5’’ เบื้องหลัง ทำไม “ซิโนแวค” ถึงกลายเป็นวัคซีนหลักของไทยไปได้ โดยระบุว่า วันที่ 1 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก WHO ได้แถลงว่า “วัคซีนซิโนแวค ได้รับการรับรองจาก WHO สำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉิน (emergency use) แล้ว” นับเป็นข่าวดีของหลายประเทศที่ฉีด sinovac เป็นวัคซีนหลัก รวมทั้งประเทศไทย
ทั้งนี้ในรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า การอนุมัติของ WHO ได้ปูทางให้กับการใช้วัคซีนซิโนแวคในประเทศยากจนทั่วโลก ทั้งในลาตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย และทำให้ซิโนแวคเข้าไปเป็นหนึ่งในวัคซีนของโปรแกรม COVAX เพื่อประเทศยากจนได้ เพราะการประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนที่ผลิตจากอินเดียที่จะเข้าสนับสนุน COVAX
เบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าสนใจคือ ทำไมไทยจึงใช้ซิโนแวค จนกลายเป็นวัคซีนหลักนำหน้าแอสตร้าเซเนก้าไปหลายขุมแล้ว
จากการระบาดต่ำมากของประเทศไทยในการระบาดระลอกแรก ทำให้เกิดการชะล่าใจในการจัดหาวัคซีน นำสู่นโยบายการแทงม้าตัวเดียวของรัฐบาลประยุทธ์ พึ่งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นหลัก ยิ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มีการสร้างโรงงานผลิตในไทยด้วย ก็เลยจบสนิทลงที่แอสตร้า แม้แต่โปรแกรม COVAX ที่นานาประเทศเข้าร่วม ไทยเราก็ตกขบวน
และแล้ว 17 ธันวาคม 2563 เริ่มพบผู้ป่วยรายแรกจากตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร จนเมื่อระบาดไปทั่วประเทศ ความตระหนักว่าประเทศไทยพลาดแล้วที่ไม่มีวัคซีนในมือเลยก็เริ่มดังขึ้น และดังมากจนเริ่มสั่นคลอนรัฐบาล ในขณะนั้นวัคซีนเริ่มหายากแล้ว หากไม่จองไว้ก่อน สั่งซื้อด่วนก็ไม่มีของจะส่งให้ ครั้นจะรอแอสตร้าสยามไบโอไซแอนก็ต้องรออีกครึ่งปี
เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับ รมต.อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งมีความสนิทสนมกับท่านเอกอัครราชทูตจีนเป็นการส่วนตัว จึงได้เข้าพบและขอความช่วยเหลือ ประกอบกับ บริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ถือหุ้น 15.03% ของซิโนแวคตั้งแต่ธันวาคม 2563 จึงเป็นการใช้กำลังภายในแบบวิถีเอเชีย จนดีลซิโนแวคได้สำเร็จ
5 มกราคม 2564 ครม.จึงรีบอนุมัติงบ 1,228 ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส รอจน 24 กุมภาพันธ์ วัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดสมาถึงไทย รมต.อนุทิน ฉีดวัคซีนเป็นคนแรก และนี่เป็นวัคซีนเดียวที่ไทยมี ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยสั่งซื้อซิโนแวคไปแล้ว 6 ล้านโดส และจะนำเข้าต่อเนื่องอีกทุกเดือนๆละ 3 ล้านโดส จนถึงสิ้นปี 2564
สำหรับวัน kick off 7 มิถุนายน 2564 ทาง ศบค.ต้องทำให้ทุกจังหวัดมีวัคซีนทั้งแอสตร้าและซิโนแวคให้ได้ กรมควบคุมโรค เพิ่งแจ้งยอดการส่งวัคซีนแอสตร้ามาแล้ว รอบแรก ประเดิมที่ 2.4 แสนโดส โดยวันนี้จะเริ่มส่งไปยัง 58 จังหวัดๆละ 300 ขวด ให้ฉีดให้ได้ 3,600 โดส ยกเว้น 19 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าไปกับล็อตหลังภายในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ คือ 1 วันก่อนวัน kick off แต่ที่แน่ๆคือ ทุกโรงพยาบาลก็มี sinovac ไปร่วมขัดดาทัพก่อนเป็นอย่างน้อย
ประเทศไทยจึงมีซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยไปโดยปริยาย
ปล. ขอบคุณภาพและข่าวจาก Reuters