“นิด้าโพล”เผยคนกรุงเทพ 34.89 เห็นว่ารถเมล์และรถไฟฟ้า BTS – MRT ฟรีช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5ได้ น้อยมาก พร้อมหนุนมาตรการ Work from Home และ 41.15 เห็นว่าเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “กรุงเทพฯ เมืองในฝุ่น” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึงความรุนแรงของวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงหลายวันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 74.43 ระบุว่า มีความรุนแรงมาก รองลงมา ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ค่อนข้างมีความรุนแรง ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความรุนแรง และร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไม่มีความรุนแรงเลย
ด้านความคิดเห็นต่อการสั่งการหรือขอความร่วมมือให้ปิดสถานศึกษาและทำงานที่บ้าน ( Work from Home ) ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 33.82 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร รองลงมา ร้อยละ 33.21 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก ร้อยละ 24.50 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย และร้อยละ 8.47 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
สำหรับการให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า BTS – MRT ฟรี 7 วัน ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.89 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก รองลงมา ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย ร้อยละ 24.50 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร และร้อยละ 6.72 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
ด้านประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.15 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ รองลงมา ร้อยละ 35.34 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 3.13 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงหน่วยงานที่ประชาชนคาดหวังให้แก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.15 ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ รองลงมา ร้อยละ 34.27 ระบุว่า กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 27.02 ระบุว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร้อยละ 20.23 ระบุว่า กรมการขนส่งทางบก ร้อยละ 17.56 ระบุว่าไม่มีความหวังกับหน่วยงานราชการใด ๆ ร้อยละ 16.34 ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ร้อยละ 13.89 ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 12.67 ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 12.44 ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 10.46 ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 9.39 ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 8.70 ระบุว่า กระทรวงกลาโหม ร้อยละ 8.47 ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ และร้อยละ 7.79 ระบุว่า กระทรวงการคลัง