บอร์ด ควบคุมยาสูบ ไม่ให้เปิดห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูล “หมอประกิต” เผยข้ออ้างทอท. ไร้อำนาจ จัดการคนหลักร้อยฝืนกฎหมายสูบในพื้นที่ห้าม กลับคิดวิธีถอยหลังลงคลองขอเปิดห้องสูบไม่สวนทางนานาชาติเดินหน้าสนามบินปลอดบุหรี่ 100%
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 68 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.งสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568โดยมีประเด็นวาระพิจารณากรณี บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เสนอขออนุญาตทำห้องสูบบุหรี่ในสนามบิน โดยมีรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และผู้แทนเข้าร่วมเพื่อแจงข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งวาระนี้อยู่ในวาระสุดท้ายของการประชุม แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยมีการพักเบรก และกลับมาหารืออีกครั้ง
ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ตนตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาหาทางออก และดูข้อเท็จจริงตามข้อเสนอของ ทอท. ว่าเพราะอะไรถึงต้องสร้างห้องสูบบุหรี่ในอาคาร และห้องสูบบุหรี่ที่มีอยู่ภายนอกอาคารอยู่แล้วเพียงพอหรือไม่ อย่างการเดินทางเพื่อไปห้องสูบบุหรี่ภายนอกใช้เวลาเพียง 1 นาทีเพียงพอหรือไม่
โดยกรรมการที่ตั้งขึ้นมี 5 คน โดยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และตัวแทนกรมควบคุมโรค 1 คน และตัวแทนทอท.อีก 1 คน ประกอบด้วย 1.ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ 2.ศ.ดร.อิสรา ศานติศาสน์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ 3.นางฐาณิษา สุขเกษม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดฯ 4.นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และ5. ผู้แทนบริษัท. AOT
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กำลังพิจารณาว่าค่าปรับของผู้กระทำผิด ให้เจ้าหน้าที่ของทอท.สามารถทำได้หรือไม่ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปดูแล เนื่องจากยังมีผู้โดยสารบางส่วนดื้อ ไม่มีห้องสูบบุหรี่ก็ยังสูบ ยอมจ่ายค่าปรับก็มี ตรงนี้ก็ต้องไปดู เพื่อแก้ปัญหาถาวร หากจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ทอท. ก็ควรทำภายใต้กฎหมาย
เมื่อถามว่าสรุปคือที่ประชุมไม่เห็นชอบสร้างห้องสูบบุหรี่ในอาคารสนามบินใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังสร้างภายในอาคาร ภายในสนามบินไม่ได้ เพียงแต่ตอนนี้ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเราไปดูร่วมกัน ว่า ห้องสูบบุหรี่ภายนอกเพียงพอหรือไม่
เมื่อถามว่า เห็นว่ามีการพูดถึงว่าให้ทดลองก่อน หมายถึงเฉพาะภายนอกอาคารใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ใช่ หากทุกอย่างได้ ก็อาจจะจบ ไม่ต้องมาแก้กฎหมาย แก้ระเบียบอะไร
เมื่อถามต่อว่ายืนยันหรือไม่ว่า สนามบินในประเทศไทยยังควรเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100% นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ภายนอกสูบได้ แต่ภายในก็ควรเป็นแบบนั้น ซึ่งก็ต้องไปดูว่ามีปัญหาอะไรถึงมาขอทำลักษณะนี้ หรือเพราะทางวิศวกรรม เจาะอาคารไม่ได้ หรืออะไร
“เรื่องนี้เราจะไม่ยืนพิงเสา หรือยืนบังเสาคุยกัน แต่จะไปดูให้เห็น Learning by Doing” นายสมศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่ามีกรอบระยะเวลาหรือต้องเสนอที่ประชุมครั้งหน้าหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามีอะไรคืบหน้าก็เสนอมา
ด้าน ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ทุกประเทศทำให้สนามบินปลอดบุหรี่อยู่แล้ว รวมถึงประเทศไทยก็อยู่ในสารบบเป็นสนามบินปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งตั้งแต่ปี 2561 ได้มีการออกกฎหมายยกเลิกห้องสูบหรี่ภายในอาคารสนามบิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้ว เป็นการดำเนินการตามอนุสัญญาควบคุมบุหรี่โลก ดังนั้นการเสนอขอให้มีการสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเพิ่ม ถือเป็นการถอยหลังลงคลอง ทั้งที่เราทำดีอยู่แล้ว
“ที่สำคัญ ข้อมูลที่ท่าอากาศยานนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้ ถึงสาเหตุขอให้จัดสร้างห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารสนามบิน อ้างข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2561-2567 มีผู้โดยสารทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน แต่มีเพียง 165 คนที่มีความประสงค์ให้หน่วยงานดำเนินการจัดห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารผู้โดยสาร และในระหว่างปี 2561-2566 เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเข้าระงับเหตุผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ภายในอาคาร 69 คน เป็นชาวต่างชาติ 63 คน และชาวไทย 6 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบผู้โดยสารที่เดินทางทั้งหมดกว่า 48 ล้านคน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ยังอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจไปดำเนินการเอาโทษผู้กระทำผิด ซึ่งก็ควรจะไปปรับแก้ระเบียบให้อำนาจ ไม่ใช่เหตุผลที่จะมาเสนอให้จัดห้องสูบบุหรี่ภายในอาคารเพิ่มขึ้น ทั้งที่ ทอท. ก็กำลังจะจัดสร้างห้องสูบบุหรี่อยู่ภายนอกอาคารแล้วจำนวน 3 ห้อง นอกจากนี้ ข้อมูลจากสภาวิศวกรรมระบบระบายอากาศของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาข้อมูลยืนยันว่าการมีห้องให้คนเข้าไปสูบบุหรี่ไม่สามารถจัดการควันบุหรี่มือสองได้ อีกทั้งยังพบค่าฝุ่น pm2.5 สูงถึง 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยืนยันว่าอาคารภายในสนามบินต้องปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญแนวปฏิบัติข้อ 8 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ระบุชัดว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการได้รับควันบุหรี่ และมีหลักฐาน แน่ชัดว่ามาตรการด้านวิศวกรรม เช่น การระบายอากาศ การกรองอากาศ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีระบบระบายอากาศแยกกัน ก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่ได้
“เรื่องนี้เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะคนที่ลักลอบสูบมีน้อยมาก ก็ต้องไปเข้มเอาผิด หากเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานไม่มีอำนาจปรับ ก็ต้องให้กรมควบคุมโรคไปแก้ระเบียบเพื่อเพิ่มอำนาจในการปรับ ซึ่งโทษของการลักลอบสูงสุดคือ 5,000 บาท” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ยืนยันว่าต้องคงเป็นสนามบินปลอดบุหรี่ 100% เราทำกฎหมายมาอย่างดีแล้ว ไม่ควรถอยหลังลงคลอง และไทยเราก็เป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องนี้ ทั่วโลกปัจจุบันก็มีสนามบินปลอดบุหรี่ประมาณ 100 กว่าแห่ง และยืนยัน การมีห้องสูบในสนามบินไม่มีผลศึกษาว่ากระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้ามาได้.