‘กมธ.ปกครองฯ’ เชิญ 5 หน่วยงานถกระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหว ‘ปภ.’ รับ ระบบเซลล์บรอดแคสต์ล่าช้า เหตุติดเรื่องงบประมาณ เผย ส่งข้อความแจ้งเตือน ปชช.ช้า เพราะเรื่องเชิงเทคนิค ขณะที่ ‘กสทช.’ เผย รออัปเดต IOS พัฒนา ‘เฟิร์มแวร์’ ชี้ หากทดลองแล้วใช้ได้ ระบบเซลล์บรอดแคสต์อาจจะสมบูรณ์ ก.ค.นี้
วันที่ 2 เม.ย.2568 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นประธาน ซึ่งมีการพิจารณาศึกษาแนวทาง ปฏิบัติเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภายในกรณีเหตุภัยพิบัติกรณีศึกษาเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมให้ข้อมูล
โดยนายกรวีร์ ได้ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าให้ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่พบเจอเรื่องระบบแจ้งเตือนภัย รวมถึงการจัดทำระบบ Cell Broadcast
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า เราเป็นหน่วยงานต้นน้ำในการมอนิเตอร์เหตุการณ์แผ่นดินไหว และเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดนอกประเทศ แต่เรามีเซ็นเตอร์ตรวจวัดเฉพาะในประเทศ ฉะนั้น จึงต้องอาศัยการแชร์ริ่งระหว่างหน่วยงานระหว่างประเทศ ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาของคลื่นและคำนวณหาสถานที่นั้นมีบางส่วนที่ดีเลย์ไปนิดหน่อย ทั้งนี้ เรามีข้อจำกัดด้านข้อมูลเนื่องจากปริมาณของตัวเซ็นเซอร์ตรวจวัดในประเทศเมียนมานั้นค่อนข้างมีน้อย ทำให้ค่าต่างๆ ในคำนวณอาจจะไม่มีความแม่นยำเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อข้อมูลมาถึงเราก็ใช้ระยะเวลาส่วนหนึ่งในการคำนวณหาค่าพารามิเตอร์ต่างๆ โดยใช้สถานีตรวจวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศเพื่อรับข้อมูลและนำมาคำนวณ ระยะเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลของเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยมีการส่งข้อความต่างๆ ไปทางเอสเอ็มเอส เฟซบุ๊ก และไลน์ ในเวลา 13.35 น. ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวประมาณ 15 นาที แต่ปัญหาคือเมื่อได้รับข้อความในช่วงแรก ประชาชนแตกตื่น พยายามที่จะวิ่งหาข้อมูลต่างๆ ทำให้มีการดีเลย์ไปส่วนหนึ่ง เพราะมีคนเข้ามาใช้มากกว่า 100 เท่าของที่เคยใช้
รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวต่อว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เรื่องภัยต่างๆ กรมอุตุนิยมฯ ไม่ได้เป็นคนรับผิดชอบ แต่เป็นหน่วยงานอื่น เช่น ปภ. กระทรวงมหาดไทย ที่จะเป็นผู้ดำเนินการต่อในเรื่องการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ทราบ ส่วนกรณีที่เป็นภัยพิบัติด้านอื่นๆ นั้น เรารับผิดชอบเรื่องพายุ สภาพอากาศต่างๆ ที่เป็นภัยกระทบต่อประชาชนและสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ แต่แผ่นดินไหวในขณะนี้ไม่มีประเทศไหนที่จะสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งเราจะพยายามแจ้งเตือนให้เร็วที่สุดตามที่สามารถทำได้
ด้าน ผู้แทน ปภ. ชี้แจงว่า การทำงานด้านสาธารณภัยเป็นการทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงาน โดยหากเป็นเรื่องของแผ่นดินไหว พยากรณ์อากาศ ฝนตกหนัก สารตั้งต้นจะมาจากกรมอุตุฯ ที่มีตัวเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างๆ หลังจากนั้นเมื่อมีการวิเคราะห์ประมวลผลแต่ละหน่วยงานก็จะส่งชุดข้อมูลต่างๆ มายังหน่วยงาน ซึ่งเรื่องแผ่นดินไหว ปภ.ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ ผ่านเอสเอ็มเอสเบื้องต้นในเวลา 13.36 น. เมื่อได้รับเอสเอ็มเอสมาถึงปภ. เราก็มีการยืนยันและสอบถามไปที่กรมอุตุฯ ว่าเหตุรุนแรงแค่ไหน และได้มีการดำเนินการต่อในเวลา 13.44 น. โดยส่งข้อความไปยังผู้ว่าฯ จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นเอสเอ็มเอสภายในที่ดำเนินการตามเอสโอพีปกติ หลังจากนั้นเมื่อเห็นกระบวนการจึงได้มีการส่งแจ้งเตือนในช่องทางต่างๆ ทางโซเซียลมีเดีย
ผู้แทน ปภ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มเอสมี 2 แบบ แบบแรกที่เราดำเนินการเร็วคือที่เราจ่ายเงินเอง เพราะเราจะมีเบอร์อยู่ที่อยู่ในฐานข้อมูลเราอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาที่เราส่งเราจะสามารถส่งได้เลยตามจำนวนเบอร์ที่เราทราบ หลังกระบวนการวิเคราะห์เสร็จ เราก็มีการประชุมและติดตามสถานการณ์ตลอด และได้ผลิตเอสเอ็มเอสเพื่อแจ้งเตือนประชาชนเบื้องต้น โดยแจ้งผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลต่างๆ แต่ประชาชนอาจจะได้รับการแจ้งเตือนที่ไม่ทั่วถึง จึงได้มีการส่งเป็นเอสเอ็มเอสอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนที่เราไม่มีเบอร์ได้รับทราบ โดยได้ประสานกับกสทช.ขอส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งจะต้องมีหนังสือนำ แต่จริงๆ เรามีไลน์กลุ่มทั้งฝั่ง กสทช. โอเปอร์เรเตอร์ว่าเราจะเริ่มกระบวนการส่งเอสเอ็มเอสแล้ว จากนั้น กสทช.จึงได้ประสานกับเครือข่ายมือถือเพื่อส่งเอสเอ็มเอสไปยังประชาชน ซึ่งต่างจากครั้งแรกที่เป็นเบอร์ที่เรามีอยู่แล้ว เป็นเบอร์หน่วยงานต่างๆ
ตัวแทน ปภ.กล่าวด้วยว่า ส่วนเอสเอ็มเอสครั้งที่สอง ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่เขาต้องหาเบอร์ให้ได้ก่อน และต้องดูว่าในแต่ละจุดนั้นมีเบอร์หมายเลขอะไรอยู่บริเวณนั้นบ้าง โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่อได้เบอร์มา ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่จึงจะส่งเอสเอ็มเอสไปอีกครั้ง กระบวนการการประสานงานจากฝั่งกสทช. ไปยังโอเปอร์เรเตอร์ หรือจากปภ. ไปยังกสทช.และโอเปอร์เรเตอร์นั้นไม่ล่าช้า ตนการันตี แต่ที่ล่าช้าเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่ต้องได้เบอร์ของประชาชนก่อน ครั้งแรกที่เราส่งในพื้นที่กทม. รวมกับปริมณฑลอีก 4 จังหวัดมีประมาณ 20 ล้านเลขหมาย โดยกระบวนการส่งของเอสเอ็มเอสเป็นแบบลำดับ
“ปัญหาอีกอย่างคือเอสเอ็มเอสเป็นช่องสัญญาณเดียวกับโทรศัพท์ ซึ่งตอนนั้นคนโทรศัพท์กันเยอะ เพราะมีการแพนิค เมื่อมีการส่งเอสเอ็มเอสไป แล้วท่านโทรศัพท์อยู่ ช่องสัญญาณชนกัน หากท่านไม่ได้ก็จะไม่ได้อีกแล้ว ไม่ต้องรอ เพราะเป็นการลำดับ และที่ทางเครือข่ายโทรศัพท์บอกคือหากจะส่งไป 1 แสนหมายเลขก็จะต้องยิงไป 1 แสนหมายเลขก่อน จากนั้นค่อยยิงไปอีก 1 แสนเลขหมาย ใครที่ช่องสัญญาณติดขัดก็จะไม่ได้ข้อความ แต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางเอไอเอสก็บอกว่าพัฒนาใหม่ 1 ชั่วโมงสามารถส่งข้อความได้ 1 ล้านหมายเลข แต่ต้องรันคิวก่อนเหมือนกัน ยืนยันว่าเอสเอ็มเอสไม่สามารถนำมาใช้กระบวนการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนได้ แต่เราใช้เอสเอ็มเอสเพราะมีเบอร์อยู่ในมือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งเตือนภัยได้เบื้องต้น” ตัวแทน ปภ.กล่าว
ตัวแทน ปภ.กล่าวต่อว่า สำหรับระบบเซลล์บอร์ดแคสต์นั้น จะยิงแจ้งเตือนทั้งหมดเป็นช่องสัญญาณพิเศษ ไม่ใช่ช่องสัญญาณโทรศัพท์ปกติ หากใช้โทรศัพท์อยู่ท่านก็สามารถรับการแจ้งเตือนได้ อีกทั้งเป็นระบบป็อปอัพที่หน้าจอเลย ไม่ต้องกดเข้าไปดูการแจ้งเตือน ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาอยู่ ยอมรับว่ามีกระบวนการที่ล่าช้าเนื่องจากเรื่องงบประมาณ รวมถึงเป็นระบบที่ใหม่ มีการศึกษากระบวนการและเริ่มดำเนินการ เมื่อราคาสูงก็จะมีบางบริษัทจ้อง มีกระบวนการที่กว่าจะได้มา เราเซ็นสัญญาณวันที่ 27 มี.ค. ก่อนแผ่นดินไหว 1 วัน แม้จะได้ผู้รับจ้างตั้งแต่ต้นปี แต่กระบวนการที่ใช้งบมากกว่าร้อยล้านต้องมีการอุทธรณ์ แต่หลังจากที่เราเซ็นสัญญาแล้ว ปภ.จะเร่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ เราจะปรับกระบวนการแจ้งเตือน เราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในวันที่ 3 เม.ย. ทางปภ.จะได้มีการเชิญ กสทช. กรมอุตุฯ กรมทรัพยากรธรณี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาหารือกัน
ด้านนายสุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ชี้แจงว่า ในส่วนของภาควิทยุและโทรทัศน์ภายใน 5 นาทีเราส่งข้อความแจ้งเตือนหลังจากที่ได้รับข้อความจากปภ. ขึ้นตัววิ่งที่โทรทัศน์และเสียงในวิทยุ ส่วนในโทรคมนาคมมีข้อจำกัดว่าตัว SMS ไม่เหมาะกับการเตือนภัย ที่เหมาะคือเซลล์บรอดแคสต์ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ และเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานกสทช. ได้มีการทดลองระบบ โดยเราดึงเฉพาะส่วนของซีบีซีที่เป็นตัวรับแจ้งข้อความ และเราลองทดสอบส่งดูในพื้นที่ภูเก็ต จากการทดสอบพบว่าสามารถใช้งานได้ดีในระดับที่น่าพอใจ ส่วนข้อจำกัดของเซลล์บรอดแคสต์ในปัจจุบัน ฝั่งปภ. ที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยังไม่แล้วเสร็จ ข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้นคือระบบปฏิบัติการ iOS ไม่สามารถส่งได้ นั่นหมายความว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รับได้หมดแล้ว ฉะนั้น เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ได้เชิญ Apple Thailand มาและได้รับปากว่าจะประสานกับทางสหรัฐอเมริกาไปอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้ภายใน 5 วัน และจะมีการทดลองกันอีกรอบในระบบ iOS
นายสุธีระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจะเป็นบทเรียนและสิ่งที่จะไปต่อคือต้องทำระบบเซลล์บรอดแคสต์ ให้ใช้ได้ในระดับหนึ่งไปก่อน และหากทาง Apple ของสหรัฐอเมริกา ได้อัปเดตเฟิร์มแวร์และทดสอบใช้ได้จริง เซลล์บรอดแคสต์ก็เกือบจะสมบูรณ์ แต่หากอัปเดตแล้วใช้ไม่ได้ เราก็จะใช้ SMS เป็นส่วนช่วยสำหรับกลุ่ม iOS หมายความว่า เซลล์บรอดแคสต์จะใช้กลุ่มแอนดรอยด์ และSMS จะเหลือน้อยลง จะเหลือเฉพาะกลุ่มที่ใช้ iOS หรือกลุ่มใช้ Apple ก็จะเป็นทางออกในช่วงสถานการณ์ที่ความสมบูรณ์ของเซลล์บรอดแคสต์ยังไม่จบ และย้ำว่าขอให้รอการอัปเดตเฟิร์มแวร์ของ Apple แล้วมีการทดสอบหากสมบูรณ์ทั้งหมดก็จะสามารถส่งข้อมูลได้ และในทางเทคนิคคือ การกระจายเซลล์บรอดแคสต์ คือการกระจายจากตัวเซลล์ หรือสถานีฐานไปยังลูกข่ายที่เกาะอยู่ในเซลล์นั้น ฉะนั้น เป็นระบบที่ตอบโจทย์เรื่องนี้จริงๆ
ขณะที่นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ได้มีการประสานงานกับทางปภ. อย่างใกล้ชิดในเรื่องการจัดทำเซลล์บรอดแคสต์ ที่เป็นระบบกระจายสัญญาณในจุดที่เกิดเหตุ ทางกระทรวงดิจิทัลฯ มีบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่มีลูกค้าอยู่ในความรับผิดชอบประมาณ 2 ล้านราย ก็กำลังดำเนินการในการทำระบบเซลล์บรอดแคสต์อยู่ และในส่วนของการรับส่งข้อมูลจากปภ. ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับผิดชอบในส่วนของการจัดทำระบบคลาวด์ เพื่อรองรับให้กับปภ. ฉะนั้น กระบวนการในการปฏิบัติทางปภ.เป็นผู้ส่งข้อมูล และส่งผ่านระบบเพื่อส่งตรงไปยังโอเปอเรเตอร์ ยืนยันว่ามีการดำเนินการร่วมกัน และคิดว่าน่าจะแล้วเสร็จประมาณไม่เกินเดือนก.ค.