วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSความจริงที่ควรรู้กับ‘แอสตร้าไทยแลนด์’ คือสาเหตุไทยต้องเจรจาวัคซีนยี่ห้ออื่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ความจริงที่ควรรู้กับ‘แอสตร้าไทยแลนด์’ คือสาเหตุไทยต้องเจรจาวัคซีนยี่ห้ออื่น

เพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” แฉอีกหนึ่งความจริง ที่ควรรู้เกี่ยวกับรง.ผลิตวัคซีนแอสตร้าฯของ “สยามไบโอไซน์” ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตหัวเชื้อไวรัสและเซลล์เพาะเลี้ยงได้เอง ต่างจากอินเดียหรืออียู หากเราไม่ส่งออก บริษัทแม่ก็ไม่ส่งหัวเชื้อให้ เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยต้องเจรจาวัคซีนยี่ห้ออื่น ผ่อนหนักเป็นเบา โดยเฉพาะเดือนก.ค.-ส.ค.

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.64 เพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” โพสต์เนื้อหาเรื่อง “ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 13 : 16-06-64” มีเนื้อหาว่า…โรงงานวัคซีนแอสตร้าไทยแลนด์ ความจริงบางประการที่สังคมไทยควรรู้ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ เป็นบริษัทยาเอกชนของอังกฤษ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนโควิดชนิดไวรัลเวคเตอร์ จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด โดยระดมทุนจากสาธารณะมาใช้ในการศึกษาและผลิตวัคซีนโควิด โดยตั้งใจว่าครั้งนี้จะผลิตวัคซีนเพื่อมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อเอากำไร

โรงงานวัคซีนของแอสตร้ามี 25 แห่งทั่วโลก ในละแวกใกล้ประเทศไทยก็มีที่เกาหลีใต้ในนามของ ‘เกาหลีใต้ไบโอไซน์’ ที่อินเดียในนาม ‘สถาบันเซรุ่มแห่งชาติอินเดีย’ ซึ่งมีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลก 100 ล้านโดสต่อเดือน และไทยเองในนาม ‘สยามไบโอไซน์’ กำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี อย่างไรก็ตามสิทธิในการกระจายวัคซีนยังเป็นของบริษัทแม่คือ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ แต่เนื่องจากโรงงานอยู่ในไทย เราก็พอจะเจรจาต่อรองขอกันแบบไทยๆ ได้ในระดับหนึ่ง

ขณะนี้ ‘สยามไบโอไซน์’ มียอดการสั่งวัคซีนมาแล้ว 8 ประเทศ กำลังการผลิตที่ตั้งใจไว้คือ 15 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งยังผลิตได้ไม่ถึงเป้า ตัวเลขที่ ศบค.แถลง คือ ตั้งแต่กรกฎาคม ส่งไทยเดือนละ 10 ล้านโดส ที่เหลือนั้นก็แปลว่า ‘ส่งออก’ แต่ในเดือนมิถุนายนนี้ ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้โวยออกสื่อมาแล้วว่า ไทยเบี้ยวการส่งวัคซีนให้เขา หากกำลังการผลิตเต็มที่ ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน การส่งออกเพียงเดือนละ 5 ล้านโดส ก็น่าจะไม่พอ เพราะแต่ละประเทศก็สั่งกันเป็นหลักล้านโดสต่อเดือนทั้งสิ้น ความจริงเป็นอย่างไร คงมีไม่กี่คนที่รู้ เพราะยากที่ใครได้เห็นสัญญาการจัดซื้อวัคซีน

มีคำถามว่า แล้วรัฐบาลจะสั่งห้ามส่งออกวัคซีนแอสตร้าไม่ได้หรือ เพราะเราแทงม้าตัวเดียวจึงจำเป็นมาก อินเดียก็ทำเช่นนี้ ในสหภาพยุโรปก็สั่งไม่ให้ส่งออกนอกสหภาพยุโรป คำตอบก็ง่ายและชัดว่า อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินนั้นทำได้ แต่เราคงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะโรงงานสยามไบโอไซน์นั้น ไม่สามารถผลิตหัวเชื้อไวรัสและเซลล์เพาะเลี้ยงได้เอง ต่างจากอินเดียหรืออียู ที่เขาผลิตหัวเชื้อเองได้ หากเราไม่ให้ส่งออก บริษัทแม่ก็อาจไม่ส่งหัวเชื้อมาให้ เราก็ผลิตต่อไม่ได้

สยามไบโอไซน์ เป็นโรงงานใหม่ ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ในขณะที่โรงงานแอสตร้าฯที่อินเดียและเกาหลีใต้ เป็นโรงงานวัคซีนเดิมมาก่อน ทำให้เขาสามารถผลิตวัคซีนได้ก่อนและได้ตามเป้า ส่วนของบ้านเรา การผลิตวัคซีนช่วงแรกๆ ก็ย่อมมีอุปสรรค ต้องใช้เวลา ต้องปรับแก้ให้เข้ามาตรฐาน ยังไม่คล่อง จึงผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผู้ใหญ่เขาบอกว่า โรงงานใหม่เอี่ยมผลิตออกมาได้เท่านี้ จริงๆ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

เมื่อสถานการณ์ของแอสตร้าไทยแลนด์เป็นเช่นนี้ เดือนกรกฎา สิงหา ก็น่าจะยังต้องลุ้นกับภาวะการมีวัคซีนไม่พอฉีดต่อไป รัฐบาลก็รู้ แต่พูดมากคงไม่ได้ เลยต้องเร่งเจรจากับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ หวังจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img