วันจันทร์, เมษายน 7, 2025
หน้าแรกHighlight“กินเร็ว”ภัยเงียบทำเสี่ยง“ไขมันพอกตับ” แนะ 6 เทคนิคเปลี่ยนวิธีกินลดเสี่ยงโรค
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กินเร็ว”ภัยเงียบทำเสี่ยง“ไขมันพอกตับ” แนะ 6 เทคนิคเปลี่ยนวิธีกินลดเสี่ยงโรค

หมอเจดเตือน! ชีวิตเร่งรีบทำพฤติกรรมกินเร็ว เสี่ยงอ้วนง่าย ไขมันพอกตับสูงกว่าคนกินช้า 30-50% ชี้กลไกสมองไม่ทันสั่งอิ่ม แนะ 6 เทคนิคเปลี่ยนวิธีกิน ลดเสี่ยงโรคจริงจัง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.68 นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หรือ “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่น่าสนใจ โดยเตือนถึงอันตรายของพฤติกรรมการ “กินเร็ว” ซึ่งเป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่โรคอ้วนและภาวะ “ไขมันพอกตับ” ได้โดยไม่รู้ตัว พร้อมแนะนำเทคนิคการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

นพ.เจษฎ์ ระบุว่า ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ การกินอาหารอย่างรวดเร็วจนเกินไป กำลังเป็นพฤติกรรมที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นการขัดขวางระบบควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย ส่งผลโดยตรงต่อการสะสมไขมันและน้ำหนักตัว โดยอธิบายว่า ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในการส่งสัญญาณความอิ่มไปยังสมองผ่านฮอร์โมนต่างๆ หากรับประทานอาหารเสร็จภายใน 5-10 นาที สมองจะไม่ทันรับรู้ ทำให้กินอาหารเกินความจำเป็นและนำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกินได้

นอกจากนี้ การกินเร็ว ยังกระตุ้นพฤติกรรมการกินมากเกินความต้องการ เสพติดความพึงพอใจจากรสชาติอาหารในระยะสั้น และมีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และรอบเอวที่สูงขึ้น จากการศึกษาต่างๆ

ที่น่าตกใจคือ นพ.เจษฎ์ ยังชี้ว่า การกินเร็วมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะ “ไขมันพอกตับ” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ โดยอ้างอิงงานวิจัยของ Zhang และคณะ (2023) ที่พบว่า ผู้ที่กินเร็วกว่าจะมีโอกาสเป็นไขมันพอกตับมากกว่าผู้ที่กินช้าถึง 30-50% อีกทั้งยังมีแนวโน้ม BMI และรอบเอวที่สูงกว่า รวมถึงมีค่าเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะตับอักเสบเรื้อรัง

กลไกที่ทำให้การกินเร็วเพิ่มความเสี่ยงไขมันพอกตับนั้น เกิดจากการที่น้ำตาลในเลือดจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อินซูลินจึงหลั่งออกมามากเพื่อกักเก็บไขมันเข้าสู่ตับ ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น เกิดการสะสมไขมันในตับ และนำไปสู่ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ในระยะยาว

ในทางตรงกันข้าม การกินช้าและเคี้ยวอาหารนานขึ้น จะช่วยให้การดูดซึมกลูโคสเป็นไปอย่างช้าๆ ลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูง อินซูลินไม่หลั่งมากเกินไป ร่างกายไม่เร่งเก็บพลังงานเป็นไขมัน และลดความเสี่ยงภาวะดื้ออินซูลิน นอกจากนี้ ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ลดปัญหาท้องอืด กรดไหลย้อน และลำไส้แปรปรวน

เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ช้าลงและส่งผลดีต่อสุขภาพ นพ.เจษฎ์ ได้แนะนำ 6 เทคนิคที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน:

เคี้ยวอย่างน้อย 15-30 ครั้งต่อคำ
ใช้เวลากินแต่ละมื้ออย่างน้อย 20 นาที
วางช้อนทุกครั้งหลังกลืน และรอให้เคี้ยวหมดก่อนตักคำใหม่
หลีกเลี่ยงการดูโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์ขณะรับประทานอาหาร เพื่อให้รับรู้ความอิ่มได้

ใช้ตะเกียบหรือช้อนขนาดเล็ก เพื่อตักอาหารคำเล็กลงและกินช้าลงโดยอัตโนมัติ

เพิ่มผักและใยอาหารในมื้ออาหาร เพื่อช่วยให้อิ่มเร็วและอิ่มนานขึ้น

นพ.เจษฎ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การกินเร็วไม่ใช่เพียงแค่นิสัย แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในหลายระบบ หากใครที่รู้ตัวว่าเป็นคนกินเร็ว ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคอ้วน ไขมันพอกตับ และโรคเรื้อรังอื่นๆ ในระยะยาว

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

จุดยืน!! “กาสิโน”

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img