วันเสาร์, เมษายน 19, 2025
หน้าแรกNEWSสธ.จับมือคลังพัฒนาระบบเบิกจ่าย ลดปัญหาทุจริตเบิกซ้ำซ้อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สธ.จับมือคลังพัฒนาระบบเบิกจ่าย ลดปัญหาทุจริตเบิกซ้ำซ้อน

สธ.– กรมบัญชีกลาง จับมือพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล-เบิกจ่าย ‘สิทธิข้าราชการ’ ผ่านระบบ FDH เพิ่มความแม่นยำ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดปัญหาทุจริตเบิกซ้ำซ้อน ปลัด สธ.แย้ม ‘กลาโหม’ สนใจเข้าร่วมหลังเจอปัญหา ด้านอธิบดีกรมบัญชีกลางลั่นพร้อมเปลี่ยนใช้ระบบเดียวหากมีความเสถียร

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.68 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนางแพตริเซีย มงคลวณิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.เป็นผู้ให้บริการสาธารณสุขรายใหญ่ 60-70% ของทั้งหมด ภาครัฐอื่นๆ 20% และที่เหลือคือภาคเอกชนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการใช้เงินของระบบสาธารณสุขสูงมากกว่าค่า GDP ของประเทศ แต่รายละเอียดจะเห็นว่าที่โตขึ้นคือภาคเอกชน ประชาชนไปใช้บริการเอกชนมาก จึงเพิ่มค่ารักษามากขึ้น ส่วนภาครัฐมีการควบคุมการใช้เงินได้ค่อนข้างดี เบื้องต้นคงไม่ต้องไปตัดเงินในระบบสุขภาพ มองว่ารัฐบาลควรเติมเงินในระบบสาธารณสุขไปที่ รพ.ภาครัฐ ถ้าทำให้ภาครัฐมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมี 2 อย่าง คือ ศักยภาพการรักษา และศักยภาพอื่นๆ เช่น อาคาร ซึ่งศักยภาพในการรักษาของรัฐไม่ได้ด้อยกว่าภาคเอกชน ยกเว้นพวกไฮเอนจริงๆ ถ้าเราเติมศักยภาพ รพ.ภาครัฐให้ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองเห็นว่า มีศักยภาพบริการเขาได้ ถ้าเขากลับมารักษาที่ รพ.ภาครัฐ จะทำให้ภาพรวมงบประมาณลดน้อยลง และเพิ่มศักยภาพขึ้น ความห่างก็จะลดน้อยลง

“การจะอธิบายให้ผู้บริหาร ประชาชนและรัฐบาลเข้าใจเรื่องนี้ ต้องมีข้อมูลที่ดี ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขเก็บข้อมูลแบบอนาล็อก ไม่สามารถบอกอะไรที่เป็นรูปธรรมได้มากนัก แต่ปีที่แล้ว สธ.ปรับระบบเป็น 30 บาทรักษาทุกที่เป็นดิจิทัลทั้งหมด ตอนนี้ รพ.ของ สธ.ทั้งประเทศปรับเป็นดิจิทัลได้ประมาณ 95% ทั้งระบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มหาศาล เกิดความโปร่งใส บอกได้ว่า คนไข้ไปเบิกซ้ำซ้อนหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ ถ้ามีระบบดิจิทัลจะสามารถตอบได้ รวมถึงหมอ พยาบาล จะบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ แก้ไม่ได้ โกหกไม่ได้ และมีระบบ AI เข้ามาตอบ” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การร่วมมือกับกรมบัญชีกลางในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพของผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รวมถึงการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub : FDH) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางด้านข้อมูลการเงินที่จะช่วยให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวดเร็ว แม่นยำและตรวจสอบได้ รวมทั้งยังนำไปใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการบริการที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 โดยมีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

“ความร่วมมือกับกรมบัญชีกลางครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้ข้อมูลที่เอาไปตรวจสอบ ใช้ประโยชน์ หรือวิเคราะห์ ในการป้องกันรักษา และนโยบายสุขภาพการเงินได้เป็นอย่างดี อีกเรื่องคือ กระทรวงกลาโหมก็มีความสนใจ เพราะเกิดปัญหาอย่างที่ทราบ กระทรวงกลาโหมเป็นระบบอนาล็อก แต่ละโรงก็ไม่สามารถดูข้อมูลกันได้ ตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ เพราะเขาเห็นเรามี Financial Data Hub เห็นความร่วมมือระหว่าง สธ.กับกรมบัญชีกลางก็มีความสนใจจะมาร่วมตรงนี้ และมีอีกหลายหน่วยงาน ตอนนี้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็กำลังเริ่มอยู่ ถ้าร่วมกันทั้งหมดก็จะเป็นข้อมูลอันใหญ่ของประเทศ เอาข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ต่างๆ ได้มากมาย วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทำให้ข้อมูลระบบสาธารณสุขเรื่องการเงินเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเห็นด้วยว่าเราไม่ควรไปลดสวัสดิการของข้าราชการลง แต่ทำอย่างไรให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้” นพ.โอภาสกล่าว

ด้านนางแพตริเซีย กล่าวว่า ในส่วนของกรมบัญชีกลาง จะดำเนินการพัฒนาและออกแบบระบบเชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพและการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากระบบ FDH กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเบิกจ่าย ลดข้อผิดพลาดจากการบันทึกข้อมูลซ้ำ ลดความซ้ำซ้อนในการตรวจวินิจฉัยและจ่ายยา รวมทั้งช่วยป้องกันปัญหาการเดินสายรับยา ทำให้สามารถกำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มีความถูกต้อง เหมาะสม ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร

“เราอยากเห็นงบประมาณที่เราใส่ลงมาในเรื่องค่ารักษาพยาบาลน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าจะกำหนดเพดานให้ต่ำลง แต่อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ข้อมูลชุดนี้จะเป็นอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่จะใช้เรื่องกำกับดูแลการเบิกจ่ายให้เหมาะสม คุ้มค่า เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและงบประมาณ รวมถึงออกแบบนโยบายภาพรวมได้ดีต่อไป ระบบข้อมูลของ สธ.ที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นแกนหลักใหญ่ขับเคลื่อนข้อมูลทั้งหมด ถ้าทุกอย่างเสถียรเราจะได้มูฟมาใช้ระบบนี้ระบบเดียว และเลิกใช้หลายระบบพร้อมๆ กัน แต่ช่วงต้นคงต้องทำให้มั่นใจก่อนว่าข้อมูลมาครบและสอดคล้องกันได้ทุกมิติ” นางแพตริเซียกล่าว

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img