“หมอเปรม” กระตุกรัฐบาล ขันน็อตทุกหน่วยงานตื่นตัว หลังพรก.ไซเบอร์มีผลบังคับใช้ให้ “เครือข่ายมือถือ-สถาบันการเงิน” ร่วมรับผิดชอบ ขู่หากนิ่งเฉยกระเทือนรัฐบาลแน่ เพราะเป็นกฎหมายของครม.
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.68 นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนได้เสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุม กมธ.ซึ่งมี นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธานในที่ประชุมถึงกรณีที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2568 ซึ่งราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศให้มีผลบังคับใช้แล้ว จึงได้เสนอให้กมธ.ได้ติดตาม ตรวจสอบว่า หลังจากพระราชกำหนด มีผลบังคับใช้แล้วสามารถแก้ไข ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในแง่ปฏิบัติ ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเอาผิดผู้ร่วมในเหตุการณ์การหลอกลวงประชาชนทางเทคโนโลยี คือเครือข่ายโทรศัพท์ และสถาบันการเงินธนาคารต่างๆ จะต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะที่ปล่อยให้มีอาการหลอกลวงผ่านหน่วยงานของตนเอง
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า การหลอกลวงลักษณะนี้มีประชาชนสิ้นเนื้อประดาตัวไปเป็นจำนวนมาก จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาคือพระราชกำหนดที่รัฐบาลสามารถใช้อำนาจบริหารแก้ไขปัญหาได้ทันที แล้วจึงมาขอรับรองจากรัฐสภาในภายหลัง ตนจึงเห็นว่าเมื่อออกมาแล้ว มาตรการของธนาคาร มาตรการของเครือข่ายโทรศัพท์ กสทช. ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับพระราชกำหนดฉบับนี้หรือไม่ หรือยังแช่เย็นกันอยู่ ปล่อยให้มีการหลอกลวงอยู่เหมือนเดิม ในที่ประชุม กมธ.ไอซีทีของวุฒิสภาก็เห็นด้วยว่า ควรจะได้ติดตามผลต่อไป หากพบว่าพระราชกำหนดนี้ยังไม่ส่งผลต่อการปฏิบัติอย่างแท้จริงของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ให้นำเรื่อง มาเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อจะควบคุมการใช้พระราชกำหนดให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป
“การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต้องมีผลในทางปฏิบัติเพราะเราเรียกร้องกันมานาน เมื่อพระราชกำหนดได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 เม.ย.แล้ว นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโอการ ก็อยากให้พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นเครื่องมือให้มีผลในทางปฏิบัติจริง ลดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้จริง จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ผ่านเลยไปโดยที่ไม่มีการตรวจสอบ ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องตื่นตัวร่วมมือทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ตำรวจไซเบอร์ ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เหมือนประเทศสิงคโปร์ ที่เขาทำมาก่อน เขามีเครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายของบริษัทโทรคมนาคมมาร่วมรับผิดชอบความเสียหาย เพราะเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง และสถาบันการเงิน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รองรับเรื่องการหลอกลวง เพราะว่าเกี่ยวข้องกับการเบิกเงินการโอนเงิน ต้องมามีส่วนต้องมามีขอบรับผิดชอบด้วย”นพ.เปรมศักดิ์กล่าว
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า การมีพระราชกำหนดเป็นเครื่องมือที่ดีในการปราบปราม แต่รัฐบาลก็อย่านิ่งเฉย ควรจะมีการประชุมส่วนราชการ กระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัดให้ขานรับพระราชกำหนดฉบับนี้ ควรต้องจริงจังในการระดมสมอง สร้างความเข้าใจร่วมกันต่อผู้ใช้เครื่องมือนี้ ทั้งตำรวจ กสทช. เครือข่ายโทรศัพท์ ตลอดจนธนาคารทุกแห่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องเข้ามาร่วมกันในการขับเคลื่อนให้เป็นผลในทางปฏิบัติ เพราะในพระราชกำหนดมีบทลงโทษที่ชัดเจน ส่วนตนในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็จะติดตามการใช้พระราชกำหนดฉบับนี้อย่างเคร่งครัดต่อไป จะตรวจสอบเป็นระยะ เพราะเมื่อพระราชกำหนดประกาศใช้แล้ว ในลำดับต่อไปจะต้องนำเข้ามาให้ที่ประชุมรัฐสภารับรอง หากไม่สามารถเป็นผลในทางปฏิบัติ รัฐสภาอาจไม่รับรองพระราชกำหนดฉบับนี้ก็ได้ และจะส่งผลต่อรัฐบาลทันทีเหมือนในอดีตที่เคยมีมาแล้ว หากมีการลงมติเสียงไม่เห็นชอบเกินครึ่งหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบโดยการลาออก เพราะว่าเป็นกฎหมายของรัฐบาล