รัฐบาลดูแลผู้สูญเสีย ตึก สตง.ถล่ม ก.แรงงาน จ่ายเงินเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุแล้วกว่า 38 ล้านบาท ย้ำดูแลผู้บาดเจ็บจนจบการรักษา
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ดำเนินการชดเชยเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ขณะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน มีผู้ได้รับผลกระทบและผู้เสียชีวิตทั่วประเทศกว่า 50 ราย เฉพาะตึก สตง. กว่า 40 ราย โดยได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 38 ล้านบาท
นายคารม กล่าวว่า สำหรับลูกจ้างที่ประสบอันตรายขณะปฏิบัติงาน จากเหตุอาคารถล่มจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทน ดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 65,000 บาท หากบาดเจ็บรุนแรงจ่ายให้สูงสุดไม่เกินหนึ่งล้านบาท ในกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลภาคเอกชน แต่หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตั้งแต่แรกจนสิ้นสุดการรักษา หรือเข้ารักษาในสถานพยาบาลเอกชนแล้วรักษาต่อในสถานพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษา จ่ายค่ารักษาเท่าที่จริงตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษา ส่วนค่าทดแทนรายเดือน กรณีที่ต้องหยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จ่ายไม่เกินหนึ่งปี ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน
- กรณีสูญเสียอวัยวะ/สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 120 เดือน
- กรณีทุพพลภาพจ่ายค่าทดแทนรายเดือน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ตลอดชีวิต
- กรณีตายหรือสูญหาย จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน ให้กับผู้มีสิทธิเป็นระยะเวลา 10 ปี ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
สำหรับลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ และ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพตามอัตรา ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 24,000 บาท ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเมื่อรวมกันแล้วต้อง ไม่เกิน 160,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
“รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ค่ารักษาพยาบาลฯ และผู้ประสบภัยยังจะได้รับเงินช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ รวมถึงเงินชดเชยส่วนอื่น ๆ ตามสิทธิทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายคารม