“กมธ.ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง” แถลง พบ 9 ข้อสังเกตต้นตอตึก สตง. ถล่ม “ปลอดประสพ” ขู่ รอบหน้าผู้ว่าสตง.ไม่มาแจงบุกถึงบ้าน ชี้ พบพิรุธเพียบ อย่าอ้างว่าไม่ผิด โทษฟ้า-โทษดิน มีคนตายเป็นร้อย ถาม เป็น มหาเศรษฐีหรืออย่างไร เช่าที่การรถไฟฯสูงปี๊ด 700 ล้าน
วันที่ 7 พ.ค.2568 เวลา 16.00 น.ที่รัฐสภา ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ พิจารณาศึกษาการยกระดับมาตรฐาน การก่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างอย่างเป็นระบบ ในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกมธ.ฯแถลงว่า พบประเด็นหลัก ๆ 7 ข้อ ที่จำเป็นต้องเชิญ สตง. มาอีกในครั้งหน้า และต้องเชิญผู้ว่าสตง.มาเองรวมถึงอดีตผู้ว่า สตง.มาด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นมายาวนานผู้บริหารปัจจุบันบางทีไม่รู้เรื่อง คือ1. พบว่าไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องย้ายสถานที่ก่อสร้างจากปทุมธานีมาจตุจักร การอ้างว่าน้ำท่วม ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังได้ เอไอที สวทช. นิคมอุตสาหกรรมมากมายในบริเวณนั้นก็สร้างเขื่อนรอบๆ และอยู่กันมาได้จนถึงทุกวันนี้ถ้าวันนั้นสตง.ถามผู้รู้เช่นตนเอง ก็จะแนะนำไปว่าไม่จำเป็นต้องย้ายเป็นความคิดที่ผิดแล้วก่อปัญหามาก
2. เนื่องจากย้ายสถานที่เดิมมาที่ใหม่ เสียงบประมาณในการออกแบบถึง 2 ครั้ง เพราะตอนอยู่ปทุมออกแบบ ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อย้ายมาก็ต้องออกแบบใหม่ และแพงกว่าเดิม เป็นตึก 33 ชั้น ,3. ทางสตง.ไม่มีเทคนิคทางด้านวิศวกรรมเลย คล้าย ๆ ทำเองคิดเองตัดสินใจเองไม่มีหน่วยงานวิศวกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานวิศวกรรมทางรัฐบาล กรมโยธาธิการหรือมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วย ถ้าบริษัทก่อสร้างบริษัทออกแบบควบคุมการก่อสร้างอธิบายมายังไงก็เชื่อตามนั้น เพราะไม่มีใครมาช่วย
4. ต้องเพิ่มบทบาทของกรมโยธาธิการและผังเมือง มาเป็นผู้กำกับและควบคุม , 5. เรายังพบช่องว่างระหว่างการทำงานมาก ซึ่งช่องว่างเหล่านี้ คือสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ จำเป็นต้องอุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ 6. พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคารต้องถูกรื้อใหม่ทั้งหมด รวมถึงกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ตอนนี้ไม่ทันสมัยเพียงพอ ต้องแก้ไขปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ และ7. พบว่าการคัดเลือกบริษัทออกแบบ และบริษัทควบคุมการก่อสร้าง ใช้มาตรฐานไม่เท่ากัน ให้น้ำหนักกับบริษัทออกแบบมาก ในขณะที่บริษัทควบคุมการก่อสร้าง ให้ความใส่ใจน้อยกว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ เวลาคัดเลือกบริษัทออกแบบใช้ประสบการณ์ 30% แต่เวลาเลือกบริษัทที่มาทำการควบคุมการก่อสร้าง ใช้ประสบการณ์แค่ 10% ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ทั้งสองอย่างจะต้องเท่ากัน เพราะบริษัทควบคุมการก่อสร้างจะต้องดูแลความปลอดภัย เช่นกันผูกเหล็ก เทปูน ผสมปูน
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.ฯได้ฝากคำถาม ถึง สตง.ไปอีก 2 ข้อ คือ 1.สมมุติว่าเหตุการณ์นี้เกิดกับหน่วยราชการอื่น สตง. จะไปแนะนำหน่วยอื่นว่าอย่างไร และ ฝากไปให้ทบทวนตัวเองในระหว่างการก่อสร้างมาตลอดไม่พบสิ่งผิดปกติเลยหรือและทุกอย่างราบรื่นเลยหรือไม่ แลล2.เมื่อพบสิ่งผิดปกติแล้วทำอย่างไร เพราะพบว่ามีการแก้ไขแบบถึง 7-8 ครั้ง และมีครั้งสำคัญ คือการเปลี่ยนตำแหน่งของลิฟท์ ซึ่งสตง.ไม่ควรคิดเองแค่คนเดียว ควรจะหารือกับหน่วยราชการอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการหรือมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ทราบว่าทำไม เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก และสุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องใหญ่
ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษากมธ.ฯ กล่าวว่า ตนยังคาใจเรื่องการกำหนดริกเตอร์สำหรับการรับแรงแผ่นดินไหวของตึก เมื่อ 35 ปีที่แล้วได้กำหนดไว้ที่ 6 ริกเตอร์ โดยออกเป็นกฎกระทรวง แต่การตรวจสอบครั้งนี้มีกฎกระทรวงที่ยึดถือ 6 ฉบับ มีเรื่องเกี่ยวกับ ความปลอดภัยของแผ่นดินไหว แต่การตรวจสอบมีปัญหา มีการตรวจ มีการทัก เมื่อมีการตรวจสอบ และพบสิ่งผิดปกติทางสตง. ก็ได้สอบถามไปยังกรมโยธาฯ แต่กรมโยธาได้บอกมาแค่ว่าให้ใช้แบบที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีทางเลือกอื่น และจากการตรวจสอบไม่มีการชี้ว่าอาคารหลังนี้ปลอดภัย จากเหตุแผ่นดินไหว ผู้ตัดสินใจว่าปลอดภัยคือบริษัทผู้รับเหมา ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้นกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกมา เป็นเพียงการถามไปตอบมา และไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ” นายนิกรกล่าว
“วันนี้ประเด็นสำคัญที่ได้มา คือ ลักษณะอาคารของรัฐ เหมือนจะไม่ปลอดภัยในการก่อสร้างเพราะลักษณะการควบคุมไม่มีหน่วยงานใดมาดูแลระหว่างทาง เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย และแผนงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อดูเหตุตึก สตง. แต่เราตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการทั้งระบบ”นายนิกร กล่าว
เมื่อถามว่า รองผู้ว่าสตง.ที่มาชี้แจง ยืนยันว่าผู้ว่าสตง. ติดราชการลับที่สภาฯ แต่ไม่ได้มาชี้แจงที่กมธ. มองว่าไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ไปแต่งตัวและมาใหม่ คราวหน้าถึงอย่างไรก็ต้องมา ส่วนที่ไม่มาชี้แจงนั้นตนขี้เกียจเดา แต่ว่าอย่างไรก็ต้องมา ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้นำต้องมาตอบเอง การให้ลูกน้องมาตนรับได้ครั้งที่หนึ่ง และเรื่องนี้ถือเป็นบทบาท ของผู้นำและเป็นจริยธรรมด้วย
เมื่อถามย้ำว่า หากรอบหน้าหากยังไม่มาชี้แจงอีก นายปลอดประสพ กล่าวว่า คงต้องไปเจอกันที่บ้าน ไม่เห็นจะยากเลย เรื่องนี้มีความผิดพลาด หรือผิดและพลาดอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นตึกสตง. คงไม่พัง และคนคงไม่ตาย ไม่ต้องมาพูดว่ามันไม่ถูกไม่ผิด ไม่ต้องโทษฟ้าโทษดิน แต่จะทำการแก้ไขอย่างไร ซึ่งตนมองว่า สตง. ต้องทำเพื่อลูกหลานในวันข้างหน้าจะได้อยู่อย่างปลอดภัย ถ้าสตง.ทำแบบนี้คิดแบบนี้ประเทศเจ๊ง และมีค่าเช่าที่ของการรถไฟ 736 ล้าน ตลอด15 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2576 เรื่องอะไรจะไปเช่า เป็นเศรษฐีนักหรือ โดยสัปดาห์หน้าจะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมืองมาให้ข้อมูลด้วย
ภายหลังการแจงกมธ. ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่า สตง.ที่เข้าชี้แจงต่อกมธฯ ว่าสรุปแล้วผู้ว่าสตง. ติดภารกิจอะไร จึงไม่เดินทางมาชี้แจงแต่กมธ.ฯ รองผู้ว่าสตง. ยืนยันว่า ผู้ว่าสตง. ติดภารกิจลับ ที่สภาฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงแรกรองผู้ว่าสตง. เข้าใจผิดว่าสภาฯ คือทำเนียบรัฐบาล