วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSเปิดประเทศแข็งใจเห็นภาพสูญเสียหรือ เผยชีวิตคนยามวิกฤติไม่ใช่ห้องทดลอง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดประเทศแข็งใจเห็นภาพสูญเสียหรือ เผยชีวิตคนยามวิกฤติไม่ใช่ห้องทดลอง

“หมอธีระ” สะกิดรายวัน เปิดประเทศในยามที่ไม่พร้อม แข็งใจพอจะเห็นภาพชีวิตที่สูญเสียที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้หรือ ย้ำชีวิตคนยามวิกฤติไม่ใช่ห้องทดลอง ชี้ประเทศอื่น เปิดเมื่อพร้อม ทั้งการควบคุมการระบาด ระบบตรวจคัดกรอง อาวุธป้องกันมีประสิทธิภาพสูง แต่ประเมินของไทยแล้ว พอคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…ใบไม้ที่ร่วงหล่น “มากมาย” เอากลับคืนมาไม่ได้…สิ่งที่ทำและตัดสินใจไปเกี่ยวกับชีวิตคนในสังคมนั้น ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ความเชื่อส่วนตัว และต้องไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ชีวิตคนยามวิกฤติไม่ใช่ห้องทดลอง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

สถานการณ์ทั่วโลก 23 มิถุนายน 2564…อินเดียเกิน 30 ล้านไปแล้ว พรุ่งนี้โคลอมเบียจะมียอดรวมทะลุสี่ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 357,080 คน รวมแล้วตอนนี้ 179,901,741 คน ตายเพิ่มอีก 7,722 คน ยอดตายรวม 3,896,898 คน 5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า และรัสเซีย, อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 9,383 คน รวม 34,433,181 คน ตายเพิ่ม 310 คน ยอดเสียชีวิตรวม 617,842 คน อัตราตาย 1.8%, อินเดีย ติดเพิ่ม 54,393 คน รวม 30,027,850 คน ตายเพิ่ม 1,129 คน ยอดเสียชีวิตรวม 390,691 คน อัตราตาย 1.3%, บราซิล ติดเพิ่ม 84,847 คน รวม 18,054,653 คน ตายเพิ่มถึง 1,900 คน ยอดเสียชีวิตรวม 504,717 คน อัตราตาย 2.8%, ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 2,204 คน ยอดรวม 5,760,002 คน ตายเพิ่ม 51 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,829 คน อัตราตาย 1.9%, ตุรกี ติดเพิ่ม 6,143 คน รวม 5,381,736 คน ตายเพิ่ม 57 คน ยอดเสียชีวิตรวม 49,293 คน อัตราตาย 0.9%

อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น, สหราชอาณาจักรนั้นยังมีการติดเชื้อเกินหมื่นอย่างต่อเนื่อง อัตราการเพิ่มขึ้นเทียบเท่าหรือช้ากว่าช่วงกันยายนปีที่แล้วเล็กน้อย, แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี แอฟริกาใต้ แซมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน, แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นมองโกเลียที่ยังหลักพัน, แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ส่วนอิหร่านตอนนี้เกินหมื่นมานิดหน่อย, เกาหลีใต้ เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ลาว ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

…ทีมวิจัยในอิหร่าน ศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงมีนาคมถึงกรกฎาคม 2563 พบว่าประเทศอิหร่านนั้น มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลกว่า 42,000 ล้านบาท หากวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายทางตรง ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทางการแพทย์ พบว่า ผู้ติดเชื้อแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่ายราว 112,000 บาท (3,755 US$) ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางอ้อม ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียรายได้จากการขาดงาน นอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต พบว่า การติดเชื้อจะทำให้มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจไปราวคนละ 349,000 บาท (11,634 US$) ดังนั้นจากผลวิจัยดังกล่าว เราคงเห็นได้ว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแต่ละรายจนต้องเข้าไปรับการดูแลรักษานั้น ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละกว่า 460,000 บาท

สำหรับในเมืองไทย ยังไม่เห็นผลการวิจัยประเมินฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ แค่เพียงลองประเมินดูว่า หากเรามีผลกระทบทางเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายต่างๆ คล้ายกับอิหร่าน ตอนนี้เราติดไปแล้ว 225,365 คน ตายไปแล้ว 1,693 คน จากธรรมชาติของโรค มีคนที่มีอาการราว 80% หรือประมาณ 180,292 คน และต้องได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาลรูปแบบต่างๆ ดังที่เราเห็นมา โดยยังไม่นับรวมคนที่อาจติดเชื้อไปและอาจไม่ได้รับการตรวจคัดกรองในระบบ มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราสูญเสียไปจากการที่คุมการระบาดไม่ได้จนมีผลลัพธ์ดังที่เห็น คงราว 82,934,320,000 บาท (แปดหมื่นสองพันเก้าร้อยสามสิบสี่ล้านสามแสนสองหมื่นบาท)

อย่างไรก็ตาม นี่คือการประเมินโดยคร่าว บนสมมติฐานข้อมูลค่าใช้จ่ายจากต่างประเทศ ซึ่งของจริงในไทยเราอาจคลาดเคลื่อนจากนี้ได้ ไม่ว่าจะมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตาม แต่เป็นสิ่งที่อยากเตือนใจ ให้ตระหนักว่า การเปิดประเทศยามที่ไม่พร้อมจริงนั้น เงินที่ได้มาอาจเทียบไม่ได้กับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดในสายตาผมคือ ชีวิตที่สูญเสียนั้นมีค่ายิ่งนัก และเรียกกลับคืนมาไม่ได้ และส่งผลกระทบมหาศาล ชีวิตหนึ่งชีวิตที่สูญเสียอาจส่งผลต่อชีวิตทุกชีวิตในครอบครัว

เราใจแข็งพอที่จะเห็นภาพนั้นจริงหรือ ประเทศอื่น เปิดเมื่อพร้อม พร้อมทั้งเรื่องการเห็นชัดเจนว่าคุมการระบาดได้ดี ระบบการตรวจคัดกรองโรคมีศักยภาพที่จะทำได้มากและต่อเนื่อง อาวุธป้องกันมีประสิทธิภาพสูง ปริมาณมากเพียงพอ และแจกจ่ายไปให้ประชาชนอย่างถ้วนทั่วแล้ว นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่คุมอย่างเข้มข้นมาก แล้วจึงค่อยๆ ผ่อนคลาย ลองประเมินเราดูว่าอยู่ในสถานะแบบใด ก็พอจะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง
Ghaffari Darab, M., Keshavarz, K., Sadeghi, E. et al. The economic burden of coronavirus disease 2019 (COVID-19): evidence from Iran. BMC Health Serv Res 21, 132 (2021).

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img