นักพนันไม่สนโควิด ปรับแผนเล่นพนันวงย่อย ทำเสี่ยงติดโรค ซ้ำหอบเชื้อติดคนในครอบครัว “จิตแพทย์” ห่วงสถานการณ์ติดเชื้อยกครัว วอนทุกฝ่ายจับมือสร้างกำลังใจ คืน “บ้าน” เป็นพื้นที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงรับเชื้อ
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันได้จัดเสวนา “พนันกับโควิด-19 … ภัยร้ายใต้ภูเขาน้ำแข็ง” โดย รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อานวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุว่า ถึงแม้จะมีการระบาดโควิด – 19 แต่ยังพบการรวมกลุ่มเล่นการพนันจำนวนมาก จากการสำรวจประชาชน 15 ปี ขึ้นไป ใน 24 จังหวัด กว่า 7,000 ตัวอย่างตั้งแต่ 28 ก .พ. – 8 เม.ย. 2564
พบว่า ผู้เล่นการพนันทุกชนิดในรอบ 12 เดือน มี 32.3 ล้านคน เพิ่มจากปี 2562 ประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเพิ่ม 6.3% ผู้หญิงเพิ่มมากกว่าชาย เหตุผลเพื่อการเสี่ยงโชค ตื่นเต้น เพลิดเพลิน และชอบเป็นการส่วนตัว นอกจากนี้ยังพบการเล่นพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น 24.4% เป็นหน้าใหม่กว่า 4 แสนคน เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 431.3% วงเงิน 107,077 ล้านบาท สำหรับผลกระทบพบว่าเงินขาดมือ เป็นหนี้ เสียสุขภาพ เสียงาน เสียการเรียน
อย่างไรก็ตามช่วงช่วงโควิดทำให้บ่อนใหญ่ถูกจับจ้อง ทำให้พบการเล่นเป็นบ่อนเล็ก 20-30 คน บ่อนชุมชน บ่อนวิ่ง บ่อนงานศพ เรียกว่าเป็นการเล่นกันเองในชุมชน รวมๆ กว่า 90% ซึ่งมีโอกาสแพร่โควิดแน่นอนเพราะมีการรวมตัวกัน ดังนั้นนอกจากมาตรการภาครัฐแล้วควรใช้มาตรการชุมชนในการดูแลเรื่องนี้ด้วย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อย่างที่เราคุยกันมาโดยตลอด สายพันธุ์อะไรก็ตามไม่สำคัญเท่ากับการป้องกันโรค ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนวิธีการ ตัวการสำคัญคือการใกล้ชิด สัมผัสกับคนติดเชื้อ ซึ่งตอนนี้เราบอกไม่ได้เลย ว่าคนที่อยู่กับเรานั้นติดเชื้อไม่ ดังนั้นการอยู่ใกล้กันน้อยกว่า 1-2 เมตร อยู่ในพื้นที่ปิด และการไม่สวมหน้ากากตลอดเวลา ไม่ได้ล้างมือให้สะอาด
ซึ่งธรรมชาติการเล่นพนันเอื้อต่อทุกปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และยิ่งขณะนี้การติดเชื้อหลักคือการติดเชื้อในครอบครัว และติดกันทั้งครอบครัว ทุกช่วยอายุ เกิดจาก 1 คนไปมีความเสี่ยงกลับมาติดคนในครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบอัตรการตายสูงขึ้น ทำให้กรมสุขภาพจิตจะต้องไปทำงานอย่างหนัก เพราะการติดทั้งครอบครัวนั้นมีโอกาสที่ 1-2 คนในครอบครัวจะเสียชีวิต และยังมีคนรอด ดังนั้นหากเราจะหยุดความรู้สึกทุกข์ใจของคนที่รอดชีวิต ก็ต้องเริ่มจากการไม่พาตัวเองไปมีความเสี่ยง
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ขณะนี้เนื่องจากรูปแบบการเล่นพนันที่มาในรูปแบบกลุ่มเล็ก กลุ่มย่อย ดังนั้นในชุมชน ที่ต้องช่วยกันลดความเสี่ยงทุกอย่าง เพราะถ้า 1 คนในชุมชนติดเชื้อ ก็เสี่ยงกับอีกหลายครอบครัวในชุมชน เป็นความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งตอนนี้คนเล่นพนันจะแยกเป็น 3 กลุ่ม 1. กลุ่มที่ติดพนันมาก่อนหน้านี้ จะใช้ทุกช่องทางเพื่อเข้าสู่การเล่นพนัน 2. กลุ่มที่พอหยุดตัวเองได้ ครอบครัว และชุมชนจะพอเบรกเขาได้บ้าง และ3. เป็นกลุ่มที่กรมสุขภาพจิตพยายามติดตามสุขภาพใจ
“คนเหนื่อยล้ามาก แต่ยังต้องสู้ต่อ แล้วเริ่มมองหาอะไรที่ไม่ต้องเป็นเหตุเป็นผล เริ่มอยากทำอะไรก็ได้ ทุกคนรู้หมดว่าความเสี่ยงคืออะไร แต่ก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร อะไรก็ไม่มีความหมาย มันเหนื่อยเกินกว่าจะสนใจและเอาใจใส่เรื่องที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและคนใกล้ชิด ความเหนื่อยล้าพยายามผลักคนเข้าหาสิ่งใหม่ ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามหาช่องทางเชิญชวนคนเข้าไปทำอะไรบางอย่าง เช่นเดียวกันชุมชนก็เหนื่อยล้าในการไล่ตระครุบ ดังนั้นอยากให้ทุกคนยังมีกำลังใจ ถึงอย่างไรเราต้องผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ ข้ามความรู้สึกเหนื่อยล้า หากคนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแล ถ้าพบใครเดินไปสู่สิ่งที่อันตรายก็อย่าเพิ่งทะเลาะกันแต่ขอให้ช่วยกันพยายามดึงเขากลับมา” พญ.พรรณพิมล กล่าว
สำหรับคนประสบวิกฤติ พลังใจเรามาจาก 3 แหล่ง 1.ตัวเราเอง แต่ก็ยอมรับตามความเป็นจริงมันมีลดระดับได้เสมอ ตอนนี้ที่เราติดตามไปพร้อมๆ กันนี้ก็พบว่ากำลังใจส่วนบุคคลก็มาจากพลังใจจากครอบครัว จึงต้องชวนครอบครัวแทนที่จะทำให้ครอบครัวเป็นจุดเสี่ยงโควิด ก็ทำให้ครอบครัวเป็นจดเช็คอินความสุขของคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัว จะสร้างกำลังใจได้ รวมถึงกลไกคนในชุมชน ซึ่ง ไม่ใช้ว่าคนอ่อนล้ามาเจอคนอ่อนล้าแล้วจะยิ่งทำให้อ่อนล้ามากขึ้น แต่กลายเป็นว่ากลไกการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่าคนใกล้ตัวเรามากกว่า 1 คน เป็นคนติดเชื้อ คนตกงาน ก็มีมากกว่า 1 คน ใน 1 ชุมชน คนที่เจอสถานการณ์ที่แบกรับหลายเรื่อง และ 1 คน ต้องโทษเพราะหาวิธีแก้ปัญหาที่ผิด ดังนั้กลายเป็นว่าการมองเห็น การยอมรับ และการเปิดพื้นที่ร่วมกัน มันกำลังจะเปลี่ยน ถ้าเราเอื้ออะไรบางอย่างให้กันและกัน จะเป็นการเติมพลังกับทุกคนให้คน ดังนั้นก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าเราจะสร้างสิ่งนี้ขึ้นได้
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ช่วงปีใหม่เป็นช่วงพีคของการพนัน พอมี.ค. 2563 เกิดสถานการณ์โควิดที่มีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้อง มีประเด็นนักพนันแพร่โควิด กองสลากงดออกลาก ทำให้นักพนันช็อคไปชั่วขณะ ว่าโควิดหยุดอะไรหลายอย่างในโลกนี้ได้ แต่หวยหยุดขายได้ไม่นาน และกลับมาได้รับความนิยมอีก จนสำนักงานสลากคิดพิมพ์เพิ่มเพราะคนตกงาน และส.ค. เกิดเหตุบ่อนขนาดใหญ่ พระราม 3 แปลว่าไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกทำให้เงียบลงด้วยเหตุบางอย่าง และมีบ่อนซ่อนแอบอีกจำนวนหนึ่ง แล้วปลายปี 2563 ที่มีความหวังจะฟื้นสถานการณ์โควิด เพราะรัฐบาลเอาอยู่แต่กลับพบบ่อนเฟื่องฟูอีกตามแนวชายแดน บ่อน 1G1 และบ่อนภาคตะวันออก เราเชื่อว่าบ่อนการพนันไม่ได้มีการลดลง และมาเป็นบ่อนดาวกระจายมากขึ้น
“โควิดมาทำให้นักพนันช็อคชั่วขณะ พอหายช็อคทุกอย่างเริ่มกลับมา จนถึงวันนี้นักพนันไม่ได้กลัวโควิดเท่าไหร่ และจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้กลัวเลยด้วยซ้ำทั้งนี้เมื่อเล่นพนันมักใช้เวลานานมาก โอกาสการ์ดตก ร่างกายอ่อนเพลีย และโอกาสรับเชื้อสูง” นายธนากร กล่าว และว่า ตัวเลขสายร้องเรียนการพนันเข้ามาที่ภาครัฐเยอะมาก 67% บางเดือนร้องเรียนถึง 200 เรื่อง