‘อนุทิน’’เผย ครม.อนุมัติให้ คร. ลงนามสัญญาซื้อไฟเซอร์ ยันพร้อมรับฟังสารพัดกลุ่มร้องจัดหาวัคซีน mRNA ฉีดบูสในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ “ปลัดสธ.” แจงคุยแล้ว เล็งส่งผู้ตรวจฯ-สสจ. ทำความเข้าใจบุคลากรในสังกัด
เมื่อวันที่ 6 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้มีการนำเรื่องการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาตามนโยบายของศบค.และรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาของครม. โดยมีการซักถามข้อสงสัย และข้อห่วงใยกังวลต่างๆ ก็มีการชี้แจงถึงความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งครม.ได้เห็นชอบให้กรมควบคุมโรค (คร.) ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดสและรับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวนหนึ่งจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ จากที่ได้ส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเงื่อนไขในร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับทั้งของกรมควบคุมโรคกับไฟเซอร์ และองค์การเภสัชกรรม กับโมเดอร์นา นั้นมีความเห็นและข้อเสนอแนะในการไปเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งสธ.รับมาและจะพยายามเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด แต่ก็ได้ขออนุมัติกรอบใหญ่จากครม.ไว้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะไปเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะลงนามสัญญาต่อไป แต่ยังอยู่ในเงื่อนเวลาที่จะเจรจาได้โดยมีเวลา 30 วันหลังจากที่ลงนามใน Term Sheet ไปแล้วก่อนลงนามสัญญาจัดซื้อ อย่างไรก็ตาม จะไม่กระทบเวลาส่งมอบวัคซีนซึ่งยังอยู่ในไตรมาสที่ 4
ส่วนกรณีมีกลุ่มราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ สภาเภสัชกรรม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขอให้มีการจัดหาวัคซีน mRNA หรือแอสตร้าเซนเนก้า นั้นก็ เป็นการแสดงความคิดเห็นที่เราพร้อมรับฟัง แต่ทั้งหมดก็มีขั้นตอนในการดำเนินงาน ซึ่งมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่
เมื่อถามว่าจะมีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “หมอไม่ทน” ชวนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วประเทศ ร่วมติดโบว์ดำสวมชุดดำ ในวันพุธที่ 7 ก.ค.นี้พร้อมทั้งเรียกร้องนายกฯ และรองนายกฯ-รมว.สธ. จัดสรรวัคซีน mRNA สำหรับฉีดกระตุ้น ว่า ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น เรียกร้องสิ่งที่ตนเองปรารถนา ก็ต้องรับฟังและจัดสรรให้ได้ถ้ามีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และต้องหารือ ชี้แจง ข้อสงสัย อธิบายความเข้าใจผิดต่างๆให้กระจ่าง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ดูแลผู้ป่วยโควิด สำหรับ Booster Dose นั้น สิ่งสำคัญต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ให้ได้ ซึ่งก็มีการพิจารณาความเป็นไปได้ว่าจะใช้วัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามา หรือแอสตร้าเซนเนก้า แต่ทั้งหมดจะมีแนวทางการใช้ออกมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล ทางกระทรวงฯ และผู้เกี่ยวข้องคิดถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานทุกคน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตนจะแจ้งและกำชับไปยังผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อให้แจ้งต่อบุคลากรของตนเองให้ทราบ และเข้าใจเกี่ยวกับการให้วัคซีน Booster Dose .