“คณบดีศิริราช” เคลียร์ชัดๆ ปรับสูตรฉีดวัคซีนสลับชนิด เป็นดุลพินิจประเทศ อ้างอิงจากฐานข้อมูลวิชาการ และมีการระบาดเป็นตัวเร่ง แม้ WHO ยังไม่แนะนำ แต่หลายประเทศดำเนินการแล้ว ส่วนไทยมีการวิจัยชัดเจนในรพ.แพทย์ 4-5 แห่ง เตือนปชช. อย่ารีรอ หลังพบผู้ป่วยโคม่า ปฏิเสธฉีดวัคซีน ขอรอปลายปี แต่ไม่ทันกาล
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แถลงข่าวผ่านระบบ ZOOM ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนของประเทศไทยว่า เวลาเราดูตัวเลข ต้องไปดูว่ามีคนที่ฉีดวัคซีนเท่าไหร่ ทั้งนี้ตัวเลขเดือนที่แล้วที่มีคนบอกว่าในประเทศอินโดนีเซีย มีคน 300 คน ติดเชื้อ แม้ฉีดวัคซีนครบแล้ว พอดูข้อมูลทั้งหมดของอินโดนีเซีย พบว่าข้อมูลถึงสัปดาห์ที่ 3 ของมิ.ย.64 มีแพทย์เสียชีวิต 410 คน มี 14 คนเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนครบตามกำหนด ที่เหลือ 300 กว่าคน คือคนที่ยังไม่ได้ฉีดหรือฉีดไม่ครบ เพราะฉะนั้นเมื่อดูข้อมูลตอนนี้ที่มี วันนี้วัคซีนลดอัตราการเสียชีวิต อาจจะไม่ดีเท่ากับตอนที่ศึกษาระยะ 3 ที่บอกว่า 100% ไม่เสียชีวิต เพราะเมื่อมีการใช้จำนวนมากไม่มีอะไร 100% ข้อมูลหลังๆ สำหรับวัคซีนแต่ละตัวที่มีการใช้ ลดอัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ 90% จึงอาจจะมีบ้างที่เสียชีวิต แต่ต้องดูว่ากรณีคนที่เสียชีวิต มีปัจจัยอื่นๆ เป็นองค์ประกอบหรือไม่ แต่ถ้าดูคนที่ฉีดวัคซีนของประเทศไทย ในระบบสุขภาพทั้งหมด 7 แสนกว่าคน ตอนนี้คนที่อาการรุนแรงกี่เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป คนที่ไม่ฉีดวัคซีนเป็นอย่างไรก็ต้องเอาตัวเลขทั้งหมดมาดู อย่าดูเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน การจะกระตุ้นเข็ม 3 ที่ย้ำคือ เราอย่าดูเฉพาะข้อมูลย้อนหลัง ซึ่งตอนนั้นเชื้อเดลต้ายังไม่เข้ามา แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว ระยะนี้ดีที่สุดคือเฝ้าติดตาม วันนี้นโยบายของประเทศในเวลานี้ ไม่อยากให้บุคลากรสุขภาพต้องเสี่ยง ทั้งนี้อัตราการเสียชีวิตของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นกับไวรัสอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งเมื่อเกินศักยภาพของระบบสุขภาพเมื่อไหร่ การติดเชื้อก็มาก ซึ่งบุคลากรสุขภาพก็เป็นหนึ่งในทรัพยากรในระบบสุขภาพ ถ้าคนป่วยมาก แต่บุคลากรติดเชื้อ หรือต้องเก็บตัว คนดูแลประชาชนก็จะน้อยลง นี่เป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่อยากเสี่ยง และเป็นปัจจัยให้พิจารณาการฉีดเข็ม 3 เพื่อหวังว่าจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และลดความป่วยรุนแรงเพิ่มเติมขึ้นให้กับบุคลากรสุขภาพ เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมีวัคซีนมากพอคงมีการขยายวงต่อ และเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้ สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์หลัก 90% และขณะนี้บางประเทศเริ่มมีการพูดถึงสายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มความรุนแรงด้วย ดังนั้นต้องเร่งบริหารจัดการวัคซีน เอามาใช้เยอะ และเร็ว
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับการฉีดเข็ม 3 ในประเทศไทย ต้องบริหารจัดการ 2 อย่าง-คู่ขนานกันไป ไม่ทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะบุคลากรที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ มีความจำเป็นกระตุ้นเข็ม 3 เพราะส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยเหมือนกัน ขณะเดียวกัน คนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย ก็ต้องได้เข้ารับการฉีดวัคซีนเลยอย่างน้อย 1 เข็ม ตอนนี้ผู้เกี่ยวข้องกำลังจัดหาและฉีดวัคซีน ส่วนจะจับคู่อย่างไรให้สามารถใช้วัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ก็ต้องถามว่า 1.ข้อมูลทางวิชาการเป็นอย่างไร 2.วัคซีนที่เรามีในมือ เป็นตัวไหน สามารถจัดการได้เร็วมากน้อยแค่ไหน แต่จะมาหวังเพียงวัคซีนไม่ได้ 3.องค์ประกอบต้องทำงานคู่กันไปคือ วัคซีน มาตรการทางปกครอง และมาตรการทางสังคม รวมถึงมาตรการทางสาธารณสุขก็ต้องทำ ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่มีทางสำเร็จ ถ้าฉีดวัคซีนอย่างเดียว แล้วคนยังไปที่ไหนก็ได้ ก็คงไม่ได้ผล วันนี้มาตรการทางสังคมออกมาแล้ว และมาตรการส่วนบุคคลก็ถือว่าการ์ดยกสูง และเห็นด้วยกับวัคซีนทางเลือกก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมให้เรามีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเร็วและทันกับเวลา
เมื่อถามว่า กรณีบุคลากรการแพทย์กลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการบู๊สเตอร์ โดส (Booster Dose) เป็นวัคซีน mRNA ไม่อยากได้ “แอสตร้าเซนเนก้า” ศ.นพ.ประสิทธิ กล่าวว่า ไปดูข้อมูลทางวิชาการ เพราะเวลานี้เราใช้วิชาการ เมื่อพูดถึงภูมิคุ้มกันถ้าอยากฉีดเข็ม 3 ก็พยายามพุ่งเป้าวัคซีนให้เร็วโดยการกระตุ้น T-Cell ได้เร็ว หรือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งวัคซีนกลุ่มไวรัลเวคเตอร์ สามารถทำงานตรงนี้ได้ดีมาก ส่วน mRNA ก็ทำงานตรงนี้ได้ดี ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ อย่างใด-อย่างหนึ่ง เมื่อดูข้อมูลที่มีการศึกษา คู่ขนานแบบฉีด 3 โดส โดยฉีด 2 เข็ม แล้วมาเติมเต็มเข็ม 3 ส่วนใหญ่ก็ใช้ 2 ชนิดนี้ ประสิทธิภาพจะใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อถามถึงกรณีฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ศ.นพ.ประสิทธิ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศเป็นนโยบายในเรื่องนี้ ยังไม่ได้แนะนำ โดยแนะนำให้ใช้เหมือนเดิม แต่คิดว่าแต่ละประเทศ เมื่อดูข้อมูล กับสถานการณ์ ก็น่าจะสามารถใช้ดุลพินิจตามสถานการณ์ของประเทศตัวเองได้
เมื่อถามว่า การฉีดสลับชนิดจะมีผลข้างเคียงอะไรในอนาคตหรือไม่ และจะเป็นการเอาประชาชนมาเป็นหนูทดลองหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า อย่าคิดว่าเป็นหนูทดลอง เพราะมีการทดลองในต่างประเทศ ที่ทำมาแล้ว และในประเทศไทยเอง มีโรงเรียนแพทย์อย่างน้อย 4 แห่ง ที่ทำการวิจัยเรื่องนี้อยู่ มีการไขว้หลายคู่ ย้ำว่าอยู่เราไม่แนะนำอะไรที่ไม่มีงานวิจัยมารองรับ เพราะเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ซึ่งหากผลวิจัยของ 4-5 โรงเรียนแพทย์ออกมาคล้ายคลึงกัน และเหมือนต่างประทศ คิดว่าจะเป็นตัวมารองรับนโยบายการฉีดวัคซีนที่จะมีการประกาศออกไป เท่าที่ทราบการวิจัยจะออกมาเร็วๆ นี้
“ทั้งนี้ข้อมูลผู้ป่วยเดลต้าที่มารับการรักษาที่รพ.ศิริราช ที่อาการหนักส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่ได้วัคซีนไม่ครบ หรือยังไม่ได้รับวัคซีนด้วยซ้ำ เรื่องนี่สำคัญ จึงพยายามย้ำตลอดเวลาว่าอยากให้มีการฉีดวัคซีน ตอนนี้มีคนไข้มากกว่า 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำที่เข้ามาก็ปอดอักเสบแล้ว และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเยอะมาก ซึ่งจำนวนหนึ่งที่เสียหายมากคนไข้ที่เข้ามาเหตุผลเพราะยังไม่ฉีดวัคซีน เพราะจะรอฉีดวัคซีนปลายปี ซึ่งไม่ทัน ดังนั้นอยากฝากไว้ตรงนี้ว่าเราสามารถฉีดเสริมทีหลังได้ ถ้าจำเป็นจะต้องฉีดเสริม เพราะไวรัสตัวนี้แพร่กระจายได้เร็วจริงๆ วันนี้ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน เพราะมีคนมาปรึกษา ว่ามีพ่อ แม่อายุเยอะ มีโรคประจำตัว เลยกลัวว่าจะเสี่ยงจากวัคซีน ทั้งที่ความจริง นี่คือกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนด้วยซ้ำ การไม่ฉีดจะเป็นการเสียดายโอกาส ดังนั้นอย่าเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ถ้ามีคิวฉีดก็อย่าไปเลื่อน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ
เมื่อถามว่า เมื่อมีการไขว้สูตร เข็ม 1 เข็ม 2 แล้วรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนมาเพิ่ม 10 ล้านโดสหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ชื่อว่าข้อมูลทางด้านวิชาการ จะเป็นตัวบอกเองในความเป็นจริงว่า การไขว้ที่ดีควรจะเป็นคู่ไหน กับคู่ไหน ตอนนี้มีวัคซีนอะไรในมือ ถ้าไขว้แล้วดีก็ใช้ก่อน แต่เราควรจะเรียนรู้ว่าต่อไปในอนาคต ควรจะเอาตัวไหนไขว้กับตัวไหน โดยตั้งอยู่บนหลักของวิชาการ
เมื่อถามถึงความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนไขว้ ชนิดเชื้อตายกับไวรัลเวคเตอร์ ซึ่งมีข้อมูลการฉีดกว่า 1,200 คน พบว่าไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ข้อมูลการฉีดไขว้ระหว่างเชื้อตายกับ mRNA เป็นอย่างไร ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละประเทศที่มีการศึกษาจะจับ 2 จุดคือ ไขว้แล้วประสิทธิภาพดีขึ้นหรือไม่ กับอันตรายหรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งงานวิจัยทั้งหมดออกมาคล้ายๆ กันคือมีแนวโน้มว่าระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น และปลอดภัย ข้อมูลขณะนี้มีเท่านี้ แต่อย่างที่บอกว่างานวิจัยที่ทำนั้น เป็นหลัก 100 คน เพราะฉะนั้นโดยรวมนี่คือเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศรับรองว่าให้ไขว้กันได้ ถ้าประเทศไหนจะไขว้ก็ต้องตัดสินโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ และสถานการณ์บีบบังคับ เร่งให้ต้องใช้หรือไม่ใช้
“คำแนะนำถึงประชาชนที่ฉีดเข็ม 1 เป็นเชื้อตาย แล้วไปจองวัคซีนทางเลือกชนิด mRNA โดยคิดว่าจะนำมาไขว้เองนั้น ขอแนะนำอย่างหนึ่งว่า เมื่อฉีดซิโนแวค 1 เข็มนั้น ภูมิคุ้มกันไม่พอหรอก และเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ สมมติ ช่วงที่โมเดอร์นายังไม่มา ช่วงที่รอนั่นคือความเสี่ยง แล้วถ้าเราถูกจู่โจมด้วยสายพันธุ์เดลต้า ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ทัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย