“อธิบดีกรมวิทย์ฯ” ตัดพ้อ “สธ.” โดนโจมตีด้วยข้อมูลเท็จ ไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน กล่าวหาทำงานไม่มีระบบ โยนข้อทุจริตจัดซื้อวัคซีน-มีเงินทอน ยันสธ.ไม่มีเรื่องทุจริตเด็ดขาด ย้ำมีการเจรจาตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีการกลายพันธุ์ หลายเรื่องคาดเดาไม่ได้ ทำให้ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตลอด
เมื่อวันที่ 21 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่อง “การจัดหาวัคซีน” เราเข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่ยังรอคอยวัคซีนอยู่ โดยข้อมูลบางอย่างที่ได้มีการพูดกัน อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีข้อมูลน้อย เช่น เราไม่มีระบบกลไกที่ดีในการจัดหาวัคซีน ทำงานไม่มีระบบ หรือวัคซีนไม่มีคุณภาพ หลายเรื่องไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้ทำงานกันอย่างหนักหน่วง เมื่อสิ่งที่เราดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ท่านคาดหวัง ท่านจะโยนข้อหาทุจริต เงินทอน โดยไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ทำงาน ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบได้ และเราไม่มีเรื่องทุจริตอย่างเด็ดขาด
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หลายฝ่ายบอกว่า ทำไมเมื่อมีการเจรจา จึงไม่เปิดผลการเจรจาทุกนัดให้ประชาชนทราบ จะได้โปร่งใส เรียนว่าจากหลักการ การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายใดก็ตาม มีสิ่งที่เราต้องตกลงกับเขาก่อน คือสัญญาที่จะไม่เอาข้อความที่เจรจากัน เพราะมีผลหลายอย่าง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต้องถามไถ่ซึ่งกันและกัน เพราะถ้านำข้อมูลที่ได้มีการเจรจาเปิดเผยทุกนัด ก็จะเกิดผลเสีย และเขาก็จะเลิกเจรจากับเรา ที่สำคัญการเปิดเผยผลการเจรจาดังกล่าวออกไป มีหลายกรณีที่เกิดผลร้าย เช่น ตอนที่เรามีเคสระบาด แล้วเราขอให้ทางแอสตร้าเซนเนก้า ได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นมาให้เราก่อน เพราะในสัญญาจะเริ่มส่งเดือนมิ.ย. แต่เรารอไม่ได้ โดยเขาพยายามตัดล็อตวัคซีนมาจากยุโรป พอข่าวออกไปทางยุโรป สั่งห้ามโรงงานที่อิตาลีไม่ให้ส่งวัคซีนให้เราทันที แล้วเราก็ไม่ได้วัคซันในล็อตนั้น จึงเป็นตัวอย่างว่า สิ่งเหล่านี้เราต้องรักษาประโยชน์ของประเทศชาติสูงสุด
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กลไกกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ดำเนินการมี 2 ส่วน 1.เป็นกลไกตามกฎหมาย เรามีพ.ร.บ.วัคซีน คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสถาบันวัคซีน พ.ร.บ.โรคติดต่อปี 2558 ซึ่งมีกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ภายใต้กลไกนี้ เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการจะดำเนินการซื้ออะไรเท่าไหร่ อย่างไร ก็มีการเอามาชี้แจงพูดคุยกัน เพื่อคณะกรรมการที่ว่าเห็นชอบ 2.กลไกบริหารราชการแผ่นดิน โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีผู้แทนต่างๆ ที่สำคัญ ทั้งองค์การอาหารและยา (อย.) กรมควบคุมโรค ผอ.สถาบันวัคซีน เลขาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การเภสัชกรรม อีกทั้งมีคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการชุดดังกล่าวอีก 2 คณะ โดยคณะแรกเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้า อีกคณะเจรจากับโคแวกซ์ ซึ่งในขณะนั้นเรามองว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเป็นแหล่งวัคซีน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีได้ตั้งขึ้น เพื่อจัดหาวัคซีนทางเลือกให้กับคนไทย
“วัคซีนไม่ใช่ของทั่วไป ไม่ใช่สินค้าที่จะหาโดยง่าย และตลาดยังเป็นของผู้ขาย ที่มีสิทธิกำหนดเรื่องต่างๆ การผลิตไม่เพียงพอ แม้กระทั่งโคแวกซ์ที่มีหลายคนบอกว่า ทำไมเราไม่เข้า ตอนนี้ก็มีวัคซีนไม่มากพอที่ได้วางแผนเอาไว้ นอกจากนี้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการกลายพันธุ์ก็ดี ก็ทำให้สิ่งที่เราวางแผนต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แล้วก็จะมีการเจรจากับหลายๆ ฝ่ายตลอดเวลา ฉะนั้นกลไกที่มีนั้นเข้มแข็ง และมากพอที่จะดำเนินการ เพื่อให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า ขอให้ประชาขนเชื่อมั่นในทีมคณะทำงานว่า เราทำงานบนหลักฐานวิชาการ การบริหาร ข้อแนะนำใดๆ ที่มีให้เราในทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อปรับปรุงการทำงาน เราน้อมรับ เพียงแต่ข้อแนะนำบางอย่าง อาจจะไม่เป็นธรรม ขอให้นึกถึงสถานการณ์ในวันที่เราตัดสินใจล่วงหน้า ที่หลายเรื่องเราไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ เช่น ที่มีการโจมตีวัคซีนซิโนแวค ถ้าเดือนก.พ. 2564 เราไม่มีซิโนแวคฉีดให้กับประชาชน จะเกิดอะไรขึ้น และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าคนที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็ม จำนวนมากไม่ป่วยหนัก จึงขอให้ท่านพิจารณาอย่างครบถ้วน เราพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อให้ได้วัคซีนมาตามที่ควรจะเป็นมากที่สุดเท่าที่เป็นไปตาม